สงกรานต์ 2565 เครือข่ายแรงงาน จี้ตรวจ ATK เข้ม ก่อนกลับบ้าน-เข้าทำงาน วอน ก.แรงงาน ดูแลสิทธิลาป่วย ติดโควิด-19 เป็นธรรม 

 

วันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” พร้อมแสดงละครสั้น “สงกรานต์ ลดเสี่ยงโควิด-19” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “สงกรานต์ลดเสี่ยงโควิด-19 ชีวิตต้องไปต่อ” ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิทธิทางสุขภาพแรงงาน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สงกรานต์ ปี 2565 คาดการณ์ว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจมีกิจกรรมตั้งวงดื่มเหล้า หลังเริ่มมีการผ่อนผันมาตรการ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย จึงรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กับรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนถนน เดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่องวัคซีนกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ระบบบริการสุขภาพมีปัญหาขั้นวิกฤต เพราะวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค และภาวะ “ลองโควิด” ที่อาจทำให้สมรรถนะร่างการเปลี่ยนไปได้

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเตรียมประกาศ และปรับมาตรการโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นสถานะ "โรคประจำถิ่น" (Endemic) หรือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คาดการณ์ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 โดยจะต้องดูตามสถานการณ์ ซึ่ง สสส. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เมื่อโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ครั้งนี้ด้วย

 

“สงกรานต์ปีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการรับมือกับโควิด-19 ที่เตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น สสส. ยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลและป้องกันตนเอง สู่วิถีชีวิต New Normal บนความปกติใหม่ และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และจะเน้นย้ำเรื่องการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มไม่ขับ และฝากถึงทุกคนไม่ให้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน สังคมจะได้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้และมีสุขภาวะดีไปด้วยกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว

 


ด้าน น.ส.ศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่คนทำงานในโรงงานไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือเข้าถึงการรักษาลำบาก โดยเฉพาะมาตรการ Factory sandbox ที่นายจ้างออกข้อกำหนดว่า คนติดเชื้อมาจากข้างนอก จะถูกตีเป็นการลาป่วยทั่วไป ไม่ใช่การลาป่วยพิเศษจากโควิด-19 มีผลต่อการปรับขึ้นโบนัส เบี้ยขยัน ที่น้อยลงหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานกังวล จึงคาดการณ์ว่าก่อนและหลังสงกรานต์จะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนองค์กรชุมชน ตั้งจุดตรวจ ATK ก่อนเข้าบ้าน และหลังกลับมาทำงาน พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง โดยขอให้กระทรวงแรงงานเข้ามาดูแล ออกประกาศไม่ให้มีการเอาการติดเชื้อโควิดมาเป็นเงื่อนไขในการหักสิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ในระยะอันใกล้ ที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะมีความรุนแรงน้อย คนทำงานสามารถพักรักษาตัวได้ในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และกลับมาทำงานได้ในเวลาอันสั้น

ขณะที่ น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ต้องแยก 2 ส่วน คือ 1.ชุมชนที่ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้ค่อนข้างมีความเข้าใจ และ 2.ประชาชนในชุมชนที่มีความรู้ แต่เป็นความรู้ปนความกลัว เพราะรับสารจากสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะการบอกว่า โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พบว่าหลายคนยังเข้าใจไม่มากพอ กลัวเสียเงิน หรือต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น จึงเสนอให้ภาครัฐสื่อสารและเตรียมความพร้อมให้ประชาชน เช่น การป้องกันตัวผ่านสื่อที่น่าเชื่อถือ อธิบายการรักษาได้อาการสีเขียวอยู่บ้าน อาการสีเหลืองสีแดงสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง รวมถึงให้ความรู้ภาวะลองโควิด และอยากให้ออกระเบียบบังคับตรวจ ATK ในสถานการณ์ที่จำเป็น เพื่อลดภาคีแรงงานและประชาชนในการซื้ออุปกรณ์มาตรวจ

นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ชุมชนวัดอัมพวาเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากร 7-8 พันคน คนในชุมชนมีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า เล่นการพนัน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก โดยที่ชุมชนต้องดูแลกันเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่มีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาดรุนแรงทำให้คนกลัวและหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอน คนเริ่มไม่กลัว มีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า พนัน บางคนพยายามทำตัวเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อได้เงินประกัน หลายครั้งที่เข้าไปตักเตือนจนเกิดการทะเลาะวิวาท อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการระบาดของเชื้อมากขึ้นนั้น ปีนี้ทางชุมชนจึงงดจัดกิจกรรมบันเทิง แต่มีการทำบุญถึงคนเสียชีวิต เพื่อเยียวยาจิตใจให้กับผู้สูญเสียในชุมชน

สุดท้าย น.ส.วงจันทร์ จันทร์ยิ้ม อาสาสมัครเคหะชุมชนคลองเก้า กล่าวว่า สูญเสียคนในครอบครัวจากโรคโควิด -19 ตั้งแต่ระลอกเชื้อเดลตาระบาด ซึ่งขณะนั้นการให้การดูแลช่วยเหลือโดยหน่วยงานรัฐ และอสส.ในพื้นที่ถือว่ามีปัญหา ไม่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเอง และได้ภาคีเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือข้าว น้ำ รวมถึงยาจำเป็น กระทั่งปัจจุบันที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาก็ยังวนอยู่แบบเดิม คือไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือ เช่น โทรไปสำนักงานเขต ก็เพียงแต่รับข้อมูลและทำบันทึกสถิติเท่านั้นไม่ได้ช่วยเหลือให้เข้าสู่กระบวนการรักษา การเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นไปได้ยาก บางคนติดจนหายยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หรือเข้ามาในลักษณะควบคุม คือไม่ได้ช่วยเหลืออะไร