อนุทิน ยืนยัน สธ.มีความพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จับตาต่อเนื่องอีก 7-10 วัน  เตรียมเสนอ ศบค. พิจารณายกระดับพื้นที่ ปรับมาตรการทุกด้าน ทั้งการเข้าเมือง การควบคุมโรค การกักตัว เตรียมเสนอ ศบค. ยกระดับพื้นที่เป็นสีส้ม ยืนยันมีความพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ทั้งยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการให้เข้าระบบ HI/CI คาดจะมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มไม่มาก

 

วันนี้ (6 ม.ค. 2565) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หลังช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมปรับมาตรการทุกด้าน ทั้งการเข้าเมือง การควบคุมโรค การแยกกัก และการกักตัว และกรมควบคุมโรคจะเสนอ ศบค. ให้พิจารณายกระดับพื้นที่เป็นสีส้ม จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากที่สุด และจำกัดผู้ที่ลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ Test & Go ให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยกำหนดเข้าประเทศวันสุดท้าย 15 มกราคม 2565 ซึ่งจะรับฟังในมิติทางเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ ประกอบกัน และมาประเมินศักยภาพอีกครั้ง

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ต้องเฝ้าระวังติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระลอกนี้ต่อเนื่องอีกประมาณ 7-10 วัน จึงจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อม ทั้งระบบยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ห้อง ICU ไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มไม่มากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากการติดเชื้อยังมีอัตราเพิ่มขึ้นตามปกติจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว สำหรับด้านการรักษากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานในการดูแล โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ หากผู้ป่วยไม่มีอาการ ขอความร่วมมือให้เข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation เพื่อสำรองเตียง เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก

ด้าน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. มีความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยมีระบบสายด่วน 1330 จับคู่ผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation และ Community Isolation รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา มีผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาขอเตียงทั้งหมด 1,709 คน นำเข้าระบบกรมการแพทย์ได้ภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ความมั่นใจว่า แม้ผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่บ้านก็สามารถดูแลได้เหมือนกับอยู่ที่โรงพยาบาลมีหน่วยบริการ อาหาร ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตามมาตรฐาน คาดว่า จะรองรับสถานการณ์ได้