หมอย้ำ ศัตรูของเราคือ โควิด 'เดลตา' ส่วน 'โอมิครอน' อาการไม่รุนแรงเท่า
เปิดไทม์ไลน์นักท่องเที่ยวบินเข้าไทย ป่วย 'โอมิครอน' รายแรก

 

วันนี้ - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลง ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” แล้ว โดยพบเป็นผู้ป่วยชาวอเมริกัน แต่เดินทางจากสเปน เก็บตัวอย่างครั้งที่หนึ่ง วันที่ 30 พ.ย. 2564 พบว่า โอกาสเป็นสายพันธุ์โอมิครอนสูงถึง 99.92% จากการตรวจซ้ำเมื่อ 3 ธ.ค. ยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน รายแรกของไทย

ซึ่งมีไทม์ไลน์ผู้ป่วยดังนี้

นักธุรกิจชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน พักอาศัยอยู่ในสเปนเป็นเวลา 1 ปี ไม่มีโรคประจำตัว สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ฉีดวัคซีน J&J แล้ว 1 เข็มจาก USA

วันที่ 28 พ.ย. 2564 ตรวจ RT-PCR ที่สเปน ไม่พบเชื้อ
วันที่ 29 พ.ย. 2564 บินจากสเปนไปดูไบ 9 ชม. ไม่ได้พูดคุยกับใคร สวมหน้ากากตลอดเวลา
วันที่ 30 พ.ย. 2564 บินจากดูไบมากรุงเทพฯ เข้าโครงการ Test&Go
วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาใน รพ.แห่งหนึ่ง ไม่มีอาการใด ๆ
วันที่ 3 ธ.ค. 2564 พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทั้งหมด ที่โรงแรม 17 คน, พนักงานสนามบิน 2 คน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีหญิงแอฟริกาที่ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลใน กทม. ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่สาพันธุ์โอมิครอน ตามที่เป็นข่าว

สรุป โควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” นั้นเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ คาดว่า โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย ณ ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้ว 46 ประเทศ ติดเชื้อในประเทศ 15 ประเทศ พบในผู้เดินทาง 31 ประเทศ ทั่วโลกยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน
สายพันธุ์โอมิครอน แพร่ง่ายและเร็ว 2 ถึง 5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย คล้ายไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น จากรายงานทั่วโลกผู้ป่วยโอมิครอน อาการไม่รุนแรงไม่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงขอเน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง การติดต่อแพร่เชื้อของโอมิครอนไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น การติดต่อผ่านทางอากาศเป็นไปได้น้อยมาก ไม่ได้เป็นไปตามข่าวลือ ย้ำว่า วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ป้องกันการป่วยหนักได้ 80-90% เชิญชวนให้รีบมาฉีดวัคซีนเพราะวัคซีนฉีดวันนี้ไม่ได้ป้องกันได้พรุ่งนี้เลย ต้องใช้ระยะเวลา

ส่วนมาตรการรับชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ทุกรายจะเข้าร่วมโครงการ Test&Go มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และสุ่มตรวจหาจีโนสายพันธุ์จากเคสที่น่าสงสัย ขออย่าตื่นตระหนก