สธ. ประสานเครือข่ายการควบคุมโรคระดับเขต เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแอฟริกาใต้ ที่เดินทางเข้ามาแล้ว หากพบติดเชื้อให้ส่งตรวจแยกสายพันธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์และป้องกันควบคุมโรคได้ทันท่วงที ย้ำประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังที่มีมาตรฐานระดับโลก

 


29 พ.ย. 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 6,165 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,753 ราย และเสียชีวิต 27 ราย แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลถึงวันที่ 28 พ.ย. 2564 ฉีดแล้ว 92,360,417 โดส เข็มที่ 1 ครอบคลุม 66% ของประชากร ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน นอกจากทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ มาลาวี มีรายงานพบในทวีปยุโรป ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์ก ทวีปเอเชียพบใน ฮ่องกง และอิสราเอล และทวีปออสเตรเลีย พบในประเทศออสเตรเลีย

ส่วนประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้ พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยขณะนี้มีหลายประเทศปรับมาตรการเข้าประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ห้ามชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ รวมทั้งหมู่เกาะเซเชลส์ เข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังมีอังกฤษ สหภาพยุโรป สหภาพอเมริกา แคนาดา อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป

นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยหลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวม 122,398 ราย แยกเป็นรูปแบบ Test and Go 96,970 ราย Sand box 20,331 ราย และระบบกักตัว 5,097 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย คิดเป็น 0.13% โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศมากขึ้น โดยประสานเครือข่ายการควบคุมโรคระดับเขตติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแอฟริกาใต้ ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ หากพบการติดเชื้อจะส่งตรวจแยกสายพันธุ์เพื่อให้รู้สถานการณ์และควบคุมโรคทันท่วงที

“ในการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐานระดับโลก มีการตรวจหาเชื้อในจำนวนที่เพียงพอ และส่งไปศูนย์ข้อมูลสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์”