"สุพัฒนพงษ์" แจง "สภาฯ" เจียดกำไร "ปตท." 8 หมื่นล้าน แก้ดีเซลแพงไม่ได้ เพราะติดกฎหมาย

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงกระทู้ถามสด มีการตั้งกระทู้ถามต่อการแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลราคาแพง และกระทบกับประชาชน รวมถึงผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ซึ่งตั้งถามโดย นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร คือเพดานราคาน้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลประกาศควบคุม อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ อนุกมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาฯ มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการเพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล​ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท โดยใช้กลไกรัฐ คือ


1.ลดการผสมไบโอดีเซล ลิตรละ 47 บาท หากลดได้ และ ใช้กลไกของรัฐดูแลปาล์ม จะลดลิตรละ 2 บาท

2.ลดภาษีสรรพสามิต เก็บราคา 5.99 บาทต่อลิตร

3.ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4,000 ล้านบาท หรือราคาสูงถึง 1.99 บาทต่อลิตร หากบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพ ไม่ควรกู้ตามที่ครม.อนุมัติ

4.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดารชดเชยแอลพีจี ภาคขนส่ง เหลือเพียงภาคครัวเรือน และ

5. ทบทวนการทำงานของ ปตท. โดยให้ ปตท. มุ่งดูแลประชาชน มากกว่าแสวงหากำไร ที่ล่าสุด​ประกาศผลกำไร 3 ไตรมาส รวม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรบนคราบน้ำตาของประชาาชน ดังนั้นควรให้ ปตท.​ มีการชดเชยค่าน้ำมันดีเซลให้ประชาชน

จากนั้นนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์​ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ชี้แจงว่า การทำงานของ ปตท. คือ ดูแลเสถียรภาพให้ประชาชนมั่นใจว่ามีพลังงานใช้ในต้นทุนที่เหมาะสม และทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ก๊าซปิโตเลียมเพื่อแข่งขันกับเอกชน ช่วยขยายเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแข่งขันตลาดเสรี ทั้งนี้ปัจจุบัน ปตท. มีหนี้สินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกำไร ใน 9 เดือน เป็นกำไรที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าน้ำมัน ต้องเก็บไว้ 2 หมื่นล้านบาท กำไร แค่ 5.5 หมื่นล้านบาท ทั้งปีอาจได้ 8 หมื่นล้านบาทจากผลประกอบการ

“แอสเซทของ ปตท. อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท กำไรแสนล้านบาท เมื่อเทียบกับธุรกิจของต่างประเทศ กำไรไม่มาก แม้จะดูเหมือนเยอะ ทั้งนี้ ตามสัดส่วนของการถือหุ้น แม้รัฐบาลจะถือหุ้นมาก ถึง 62% แต่อีก 38% คือ นักลงทุนและประชาชน หากนำกำไรของ ปตท. สนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เช่น สนับสนุนดีเซล ทำไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จาก ปตท. ตลอด 9 เดือน เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท คือ เงินปันผลที่รัฐบาลได้รับ และ เงินภาษี โดยเงินนี้จะออกมาในรูปแบบของการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่นกองทุนน้ำมัน” นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจง

นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงด้วยว่า ราคาขายน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.​ราคาต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเอกชนรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ไว้เพื่อดูแลประชาชน รวมถึงโครงการอื่นที่ช่วยเหลือประชาชน ยอมรับว่าอาจมีสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้น กมธ.ของสภาฯ สามารถเรียกให้ชี้แจงได้

ทั้งนี้นายอัครเดช ชี้แจงว่า กมธ.ฯ เคยเรียก ปตท.​ชี้แจงแต่พบการบ่ายเบี่ยง แม้จะมาชี้แจงเป็นคำตอบทั่วไป เช่น ทำซีเอสอาร์ ซี่งคำชี้แจงของ รมว.พลังงาน ที่ชี้แจงได้ตอบเหมือนเป็นพนักงาน ปตท.​ ตอบในกมธ. ดังนั้นขอให้ฟังคำตอบที่ชัดเจน อย่าทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ ปตท. โดยขอให้ประกาศให้นำกำไรของปตท.​ มาช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด

โดยนายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า “ผมทำงานเป็นกลาง และเน้นประโยชน์ประชาชนของประเทศ ปตท. คือรัฐวิสาหกิจ คือ ใช้อำนาจท่าน หากเรียกไม่มา ก็ตามได้ ให้แจ้งมาที่ผม ผมจะตามให้ เพราะเป็นหน้าที่อธิบายกับผู้แทนประชาชนเพื่อสื่อความให้ประชาชน ทั้งนี้ผมกำชับว่าให้ไปทุกครั้งที่เรียก ผมไม่ได้ตอบแทน ปตท. แต่ขอให้เชื่อมั่นในรัฐวิสาหกิจไทยในตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่ไม่สามารถนำกำไรทั้งหมดมาช่วยประชาชนได้ เพราะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นด้วย อีกทั้งขัดต่อกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะถามคำถามสุดท้าย นายชวน กล่าวเตือนนายอัครเดชด้วยว่าว่าขอให้เกียรติรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายอัครเดช ชี้แจงว่า ตนให้เกียรติรัฐมนตรี และทำความเคารพทุกครั้ง อย่างไรก็ดีมติของอนุกมธ.ฯ รัฐวิสาหกิจของสภาฯ ที่ไล่รัฐมนตรีเพราะไม่สามารถให้ ปตท. ชี้แจงกมธ.ฯ ได้ ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ไม่ใช่การไม่ให้เกียรติ พร้อมย้ำคำถามเดิมต่อการนำกำไรของปตท.เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพง

โดยนายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ปตท. ส่งเงินให้รัฐ เป็นงบประมาณแผ่นดิน รวม 5.6 หมื่นล้านบาท หากมากกว่านั้น ทั้งนี้ราคาขายต่ำสุดเมื่อเทียบกับสถานีบริการน้ำมันเอกชน เป็นรัฐวิหสาหกิจไทยไม่ถอดทิ้ง ส่วนรายละเอียดของค่าใช้จ่ายนั้นไม่ทราบ แต่ขอให้ทราบว่าเป็นผู้นำตลาดในการกำหนดราคาน้ำมันดีเซล ตามนโยบายรัฐบาล โดยปัจจุบันราคาขายน้ำมันดีเซลต่ำที่สุด