รมว.ดีอีเอส เอาจริงยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ พลิกโฉมบริการโทร 1212 OCC  สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” พร้อมเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพทำงานร่วมกันกับตำรวจ ธนาคาร แพลตฟอร์มโซเชียล องค์กรผู้บริโภค เร่งเครื่องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี และผู้เสียหายเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาได้เร็วขึ้น เผยยอดร้องเรียนปัญหาออนไลน์ปีนี้ใกล้แตะ 50,000 เรื่อง กว่า 67% เป็นปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์

 

วันที่ 24 พ.ย 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ปรับโฉมบริการโทร 1212 OCC สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ ให้เข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยขยายขอบเขตการรับเรื่องร้องเรียนไปถึงปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาการฉ้อโกง เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และแชร์ลูกโซ่ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น

โดยครอบคลุมทั้ง ขยายการทำงานในการป้องกันและจัดการปัญหาออนไลน์ไปยังภาครัฐ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นไปได้เร็วขึ้น, ภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทด้านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล และยูทูบ, ภาคประชาสังคม เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและจัดการปัญหาและข้อร้องเรียนหรือภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์ ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกัน จัดการ และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนขยายช่องทางการรับแจ้งเรื่อง ของศูนย์ผ่านช่องทาง Line และสำนักงานสถิติจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ ล่าสุดเตรียมจัดตั้งศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพทำงานร่วมกันกับตำรวจ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มโซเชียล และ กสทช. มุ่งพันธกิจในการเร่งรัดติดตามการป้องกันปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดติดตามดำเนินคดีผู้กระทำผิด ลดอุปสรรคความล่าช้าในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและแกะรอยเส้นทางการเงินของบัญชีมิจฉาชีพ ตลอดจนหาแนวทางดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้รวดเร็วที่สุด

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการประชุมวานนี้ (23 พ.ย. 2564) ร่วมกับตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ข้อสรุปหลัก ๆ เพื่อจัดทำแนวทางแก้ปัญหา ได้แก่ จะมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทย และแบงก์ชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันในการเปิดบัญชีแทนผู้อื่น และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับการรับจ้างเปิดบัญชี (บัญชีม้า) ซึ่งถือเป็นต้นตอร้ายแรงของปัญหามิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ในปัจจุบัน

 

“เรื่องการเปิดบัญชีแทนผู้อื่น อาจกำหนดโทษที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่นำบัญชีไปจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และตามประมวลกฎหมายอาญาร่วมด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว

 

นอกจากนี้ เตรียมเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยจะมีการจัดทำช่องทางสื่อสารกลางผ่านออนไลน์ ที่มีระบบความมั่นคงปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล พร้อมกำหนดตัวตนของบุคคลที่จะอยู่ในเครือข่ายประสานงานการรับแจ้งความคดีด้านนี้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนติดตามขอข้อมูลประกอบพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินคดี เพราะยิ่งฝ่ายสอบสวนสืบสวนได้รับข้อมูลล่าช้าจากธนาคารในเรื่องเส้นทางการเงินที่เหยื่อหลงเชื่อโอนไปบัญชีมิจฉาชีพ หรือจากผู้ให้บริการมือถือ ซี่งมีรายชื่อผู้ลงทะเบียนใช้บริการส่ง SMS หลอกลวง โอกาสที่จะติดตามเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายจะยิ่งหมดไป เพราะมีการโอนกระจายต่อไปบัญชีอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว และหลายครั้งปลายทางอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยากต่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมและการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านออนไลน์จึงเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลการสำรวจทั้งในมุมของพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และสถิติมูลค่า e-Commerce ของประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ พบว่า จำนวนชั่วโมงของผู้ใช้งานอิเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดเฉลี่ย อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน

สำหรับกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยคือ Social media ทั้งการใช้งานด้านการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น SMEs มีการใช้ช่องทางของแอปพลิเคชันธนาคารในการรับชำระสินค้าและบริการ อยู่ที่ 58.56% และมีการใช้ Social commerce เป็นช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ถึง 71.83% เป็นต้น

ขณะที่ ตัวเลขสถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 1212 OCC ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเรื่องร้องเรียน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดในปี 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 49,996 ครั้ง ปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ 67.11 % รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 23.06 % และหากลงรายละเอียดของปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไว้มากถึง 47% ตามมาด้วย สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา 29% เป็นต้น

 

“จากตัวเลขข้างต้น เราจะเห็นว่าโลกออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ และแน่นอนว่า เมื่อคนทั่วโลกหันมาทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ภัยคุกคามทางออนไลน์ ทั้ง การฉ้อโกง หลอกลวง ปัญหาในรูปแบบต่างๆ ก็เพิ่มตามมาด้วย ทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเข้าไปดูแลคุ้มครองผู้บริโภคกันอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจังกับการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่” นายชัยวุฒิกล่าว

 

ด้านนายธันวา สุริยะจักร กล่าวว่า ขอสนับสนุนโครงการนี้ และอยากเชิญชวนให้มีการร้องเรียนกันเข้ามา เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ดีมาก เนื่องจากปัจจุบันโลกออนไลน์รวดเร็วขึ้น ทำให้คนทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น ใช้ E-Banking มากขึ้น จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพเข้ามาผ่านช่องทางนี้ ขณะที่ ประชาชนบางส่วนยังขาดภูมิคุ้มกันและรู้ไม่เท่าทันมิจฉาชีพออนไลน์ หรือเอสเอ็มเอสหลอกลวงให้คลิกเปิดลิงค์และถูกหลอกเงินจากบัญชีธนาคาร

ขณะที่นายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือคิง ก่อนบ่าย กล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันให้เกิดขึ้นครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะโดยส่วนตัวซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ไม่อยากให้มีประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้อีกต่อไป พร้อมกันนี้อยากเสนอแนะให้มีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงศูนย์ร้องเรียนได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

สำหรับกรณีของตนเองซึ่งมีบุคคลในครอบครัวถูกหลอกลวงทางออนไลน์ก่อนหน้านี้ จากการติดตามความคืบหน้ากับตำรวจเพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิด ทำให้รับทราบปัญหาด้านกระบวนการในการติดตามเส้นทางบัญชีโอนเงิน เนื่องจากธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าใช้เวลาราว 2 เดือนต่อ 1 บัญชี ขณะที่ขบวนการมิจฉาชีพมีการโอนต่อไปยังหลายบัญชี ดังนั้นกว่าจะได้ข้อมูลเพื่อประกอบพยานหลักฐานยื่นศาลต้องใช้เวลาเกินปี ไม่ทันการณ์สำหรับการสกัดกั้นการไหลออกของเงิน และการติดตามเงินคืนผู้เสียหาย เพราะส่วนใหญ่หัวหน้าขบวนการอยู่ในต่างประเทศ

โดยในการแถลงข่าวปรับโฉมบริการโทร 1212 OCC สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” มีดาราและ Influencer ชื่อดังมาร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ธันวา สุริยะจักร , ไมค์ ภัทรเดช สงวนความดี, คิง ก่อนบ่าย, เส้นด้าย พิมพ์ลดา เเววไทสง, ไวท์ ศุทธิ เรืองวิทยาโชติ, เบส อนาวิล ชาติทอง, สุระ รพีสิริรัตน์ , เหม่เหม ธัญญวีร์ ชุณหสวัสดิกุล, สิงโต สกลรัตน์ พันเทศ