นายกฯ ส่งสัญญาณเข้าร่วม CPTPP มั่นใจอีก 3 ปีเศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น หลังทุ่มงบประมาณ 25% ของ GDP แก้โควิด-19 คาดสิ้นปีนี้ฉีดวัคซีนครบ 120 ล้านโดส

 

21 พ.ย. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จับมือ ร่วมใจ พาไทยรอด” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ระบุว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา ไทยได้เผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังไม่ทราบว่าจะต้องอยู่ไปอีกเมื่อไหร่  นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตและเศรษฐกิจ ตนทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจปากท้องและผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติ

รัฐบาลต้องกำหนดงบประมาณ และการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ โดยเข้าใจปัญหาของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการทางธุรกิจ เพราะอยากให้ทุกคนกลับมาดำเนินชีวิตปกติอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีน ขณะที่เรามีปริมาณวัคซีนทั่วประเทศแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องการฉีดให้ครอบคลุม โดยภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส และตอนนี้เหลืออีกเพียง 10 กว่าล้านเท่านั้น

ดังนั้น หากเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ครบ 100 ล้านโดส เดือนธันวาคมอีก 20 ล้านโดส รวมเป็น 120 โดส และแผนปีหน้า 2565 วางเป็นการฉีดบูสต์ไว้อีก 60-70 ล้านโดส ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้งบประมาณ 25% ของ GDP ไปกับโควิด-19 ในทุกมิติ จาก GDP ประเทศประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ APAC

นายกฯ ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจอีก 3 ปีจะดีขึ้น หลังปี พ.ศ.2565, 2566, ​2567 ถ้าโรคระบาดไม่กลับมาอีก รวมถึงประเมินถึงความขัดแย้งในอาเซียน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สถานการณ์เพื่อนบ้าน และราคาน้ำมัน โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน บนความร่วมมือของทุกฝ่าย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่วางเอาไว้

นายกฯ ยังยืนยันด้วยว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ได้ต้องการที่จะยึดครองอำนาจ แต่เพื่อวางรากฐาน เป็นแผนพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และได้เล่าถึงหลักการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ ที่มีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยระบุว่า ขอเล่านานหน่อย เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในศีรษะตนมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว

ส่วนในด้านการค้า-การลงทุน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังมีข้อดีและข้อเสียอีกมากที่ไทยต้องพิจารณารอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของไทย  ดังนั้น ไทยจะต้องเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงบางอย่างที่ยังไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ เช่น เกษตร สาธารณสุข  แต่ยืนยันว่า การเจรจาครั้งนี้ยังไม่ได้ตกลงเข้าร่วมในทันที