กรมชลฯ ขานรับ กอนช. เฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง 28 ต.ค.–3 พ.ย. ย้ำเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ

 

ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2564 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง” จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค.2564 นี้ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ช่วงวันที่ 28-30 ต.ค.2564 มีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางบางส่วน ประกอบกับในช่วงวันที่ 28 ต.ค.–3 พ.ย.2564 ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงวันที่ 28 ต.ค.–3 พ.ย.2564 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ดังนี้

เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และเลย
- ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี
- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

 

เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
- ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรี และสระบุรี
- ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และยะลา

 

เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

- แม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมาย และอำเภอชุมพวง / จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ / จังหวัดสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอเมืองสุรินทร์ / จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล / จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี
- ลำน้ำพรม จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเกษตรสมบูรณ์
- แม่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น
- แม่น้ำชี จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเมืองชัยภูมิ / จังหวัดขอนแก่น อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอเมืองขอนแก่น / จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม / จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ / จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร และอำเภอทุ่งเขาหลวง / จังหวัดยโสธร อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอเมืองยโสธร / จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน
- แม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ
- แม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี
- แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสามชุก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอสองพี่น้อง / จังหวัดนครปฐม อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน
- แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม
- แม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี
- แม่น้ำบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน
- แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
- คลองท่าดี จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และรองรับน้ำหลาก รวมถึงกำชับให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ตลอดจนแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนไปยังจังหวัด ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา