ศาลปค.สูงสุดพิพากษาเเก้คำพิพากษาศาลปค.ชั้นต้น สั่ง กฟผ. คืนหลักค้ำประกัน 45 ล. ให้ บ.ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด ภายใน 60 วัน ชี้เหตุไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามิใช่ความบกพร่องของผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าฯ ไม่มีสิทธิริบหลักประกัน

 

วันที่ 23 ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คืนหลักค้ำประกันการยื่นคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้าตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 00019/108062/0017/2548 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2548 เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 45,000,000 บาท ให้แก่บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันฯ จำนวนเงิน 45,000,000 บาท ให้ กฟผ. เพื่อเป็นหลักประกันการยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่ง กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามคำเสนอของผู้ฟ้องคดี และแจ้งว่าก่อนลงนามตามสัญญาผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการให้บริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด โอนกรรมสิทธิ์สถานีไฟฟ้าศรีมหาโพธิและจดทะเบียนภาระจำยอมทางเข้าออกของสถานีไฟฟ้าดังกล่าวให้ กฟผ. ให้แล้วเสร็จก่อน โดยขณะนั้นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันแต่อย่างใด

ต่อมา กฟผ. ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก เฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2550 และได้อาศัยระเบียบดังกล่าวออกประกาศ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก เฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลงวันที่ 18 เมษายน 2550 ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าตามระเบียบดังกล่าวต่อ กฟผ. เนื่องจากระเบียบฯ และประกาศฯ ดังกล่าว มีความแตกต่างจากระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กฯ พ.ศ. 2548 และประกาศ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กฯ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2548 ซึ่ง กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลต่อผู้ฟ้องคดีว่า ไม่ขัดข้องที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ฟ้องคดีตามข้อเสนอดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องลงนามสัญญาตามระเบียบดังกล่าวภายใน 2 ปี นับจากวันที่ กฟผ. แจ้งผลการพิจารณารับซื้อ แต่เนื่องจากร่างสัญญากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อร่างสัญญาได้รับความเห็นชอบจาก สนพ. แล้ว กฟผ. จะได้ส่งร่างสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการต่อไป

กรณีจึงเห็นได้ว่า กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามคำเสนอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ตามหนังสือ ที่ กฟผ. 421200/25616 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2549 จึงต้องถือว่า คำเสนอและคำสนองของผู้ฟ้องคดีและ กฟผ. ถูกต้องตรงกันและผูกพันทั้งสองฝ่ายให้ต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2549 ดังนั้น กำหนดระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีและ กฟผ. ต้องลงนามในสัญญาซื้อขายภายใน 2 ปี คือ ภายในวันที่ 29 มิ.ย. 2551

แต่เมื่อในวันที่จะต้องมีการลงนามในสัญญา กฟผ. ยังดำเนินการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะต้องลงนามไม่แล้วเสร็จ โดยอ้างว่า ร่างสัญญายังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนพ. ทำให้ไม่มีสัญญาที่คู่สัญญาอาจลงนามระหว่างกันได้ในวันดังกล่าว

การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 29 มิ.ย. 2551 จึงมิได้เกิดจากความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ในทางกลับกันเมื่อ กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ออกระเบียบและประกาศ ซึ่งกำหนดให้จะต้องมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 2 ปี นับจากวันที่ กฟผ. ได้แจ้งผลการพิจารณา กฟผ. จึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามความในระเบียบและประกาศดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการจัดทำร่างสัญญาให้พร้อมลงนามก่อนกำหนดระยะเวลาที่จะต้องลงนาม และไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณาก่อนขึ้นอ้าง เพื่อให้เกิดผลเสียหรือความรับผิดของบุคคลอื่นได้ และต้องถือว่าคำร้องและข้อเสนอการขายไฟฟ้าดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นอันยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น กฟผ. จึงไม่อาจใช้สิทธิริบหลักประกันการยื่นคำร้องข้อเสนอขายไฟฟ้าของผู้ฟ้องคดีได้