ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง 'วิศวกร-บ.เมก้าฯ' จำเลยที่ 3 เเละ 9 คดีเเก๊สระเบิด ธ.ไทยพาณิชย์ เมื่อปี 59

 

ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 รายงานว่า วันที่ 23 ก.ย.2564 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีสารเคมีระบบดับเพลิงไพโรเจนฟุ้งกระจายจนมีผู้เสียชีวิตที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.2559 จนมีผู้เสียชีวิต 8 ราย เเละบาดเจ็บ ที่พนักงานอัยการเเละครอบครัวนายวิรัช ดีดพิณ นายพีรพัฒน์ กอยประโคน น.ส.กรรณิการ์ ประจิตร์ หรือสินศิริ คนงานที่เสียชีวิตระหว่างการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนาย ณ.พงษ์ สุขสงวน อายุ 49 ปี ประธานกรรมการบริษัท เมก้า เเพลนเน็ต จำกัด นายอดิศร โฟดา อายุ 55 ปี ผู้บริหาร บจก.เมก้า เเพลนเน็ต นายจิระวัฒน์ เปรมปรีดิ์ อายุ 34 ปี วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก. เมก้า เเพลนเน็ต นายสมคิด ตันงาม อายุ 63 ปี  กก.บจก.โจนส์ เเลงฯ นายตรีภพ ยังประเสริฐกุล อายุ 41 ปี ผู้จัดการดูเเลอาคาร บจก.โจนส์ เเลงฯ น.ส.ขจรจิตร พรหมดีราช อายุ 49 ปี พนักงานบริษัท เอบิต มัลติซิสเต็ม จำกัด  นายบุญเสริม กระจาด อายุ 40 ปี วิศวกร บริษัท เมก้า เเพลนเน็ต จำกัด  โดยนาย ณ. พงษ์ สุขสงวน เเละนายอดิสร โฟดา กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท โจนส์ เเลง ลาซาลล์ เเมนเนจเม้นท์ จำกัด โดยนายสมคิด ตันงาม กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลยที่ 1-10  ในความผิดร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตายเเละได้รับอันตรายเเก่กายเเละอันตรายสาหัส ตามป.อาญา ม.291, 300, 390

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา แม้จำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นผู้บริหาร บจก.เมก้าฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 รักษาความปลอดภัย ขณะที่นายจิระวัฒน์วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้างานมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความปลอดภัย แต่กระทำโดยประมาทไม่ปิดระบบดับเพลิงเดิม ไม่ควบคุมในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 2 , 3 , 9 จึงมีความประมาทร่วมด้วยทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตขึ้น ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 -3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน อีกทั้งความประมาทที่เกิดขึ้นในการปิดระบบดับเพลิงเดิม นอกเหนือจากความสามารถของจำเลย จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยโดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 2 ปี

ส่วน บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ให้ปรับ 20,000 บาท และจำเลยที่ 1-3, 9 ร่วมกันชดใช้เงินญาติผู้ตายที่เป็นโจทก์ร่วมด้วย 5 คน รวม 2.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันเกิดเหตุ 13 มี.ค.2559 ส่วนจำเลยที่ 4 – 8 และ 10 พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาเเก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-2 เเละยกคำร้องที่บังคับให้จำเลยที่ 1-2 ชดเชยค่าสินไหมทดเเทนด้วย ให้จำเลยที่ 3 เเละ 9 ชำระดอกเบี้ยเเก่โจทก์ร่วมที่ 1 นับจากวันฟ้อง นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

ต่อมา พนักงานอัยการโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 3, 9 ยื่นฎีกา 

ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3, 9 เสียด้วยยกคำร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์