สธ.เผยสถานการณ์โควิดไทย ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง เเต่ยังต้องป้องกันความเสี่ยงต่อไป โดยเฉพาะ งานบุญ งานกฐิน เทศกาลกินเจ

 

วันที่ 22 ก.ย.2564 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,252 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,207 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,816 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,391 ราย และมาจากเรือนจำ 28 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย

ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,511,357 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 13,695 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,366,533 ราย อยู่ระหว่างรักษา 129,071 ราย อาการหนัก 3,464 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 753 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 141 ราย เป็นชาย 76 ราย หญิง 65 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 109 ราย มีโรคเรื้อรัง 28 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 51 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15,753 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 230,313,402 ราย เสียชีวิตสะสม 4,722,750 ราย

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 22 ก.ย. ได้แก่ กทม. 2,455 ราย สมุทรปราการ 910 ราย ชลบุรี 715 ราย ราชบุรี 455 ราย สงขลา 453 ราย ระยอง 423 ราย นราธิวาส 357 ราย ปราจีนบุรี 271 ราย นครราชสีมา 263 ราย ปัตตานี 257 ราย ทั้งนี้ จ.นครพนม เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ของวันนี้

“ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกถือว่ามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประเทศไทยแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล รวมถึงผู้ที่อาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอให้ป้องกันความเสี่ยงต้องเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะ งานบุญ งานกฐิน งานมุทิตาจิต เทศกาลกินเจ ต้องกำหนดมาตรการป้องกันอย่างชัดเจน และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย”

เมื่อถามถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ... จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ตามที่ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องนำรายละเอียด ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตจากที่ประชุม ครม. ไปปรับปรุงเนื้อหาสาระให้มีความเหมาะสม และมีความถี่ถ้วน ครบถ้วนทุกประการ และจะต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไป ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถกำหนดชัดได้ว่า จะประกาศใช้ประมาณเมื่อไหร่ ขอย้ำให้เข้าใจว่า จากที่มีข่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลแล้วนั้นไม่ใช่ ยังไม่มีผลในตอนนี้และคาดว่าวันที่ 1 ต.ค.ก็ยังจะไม่ได้มีผลบังคับใช้ เพราะต้องใช้เวลาอย่างรอบคอบสักนิดหนึ่ง