ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้ายาโมโนโคลนอล แอนติบอดี สร้างทางเลือกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใช้กับผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 วัน-คนที่เสี่ยงอาการรุนแรง

 

วันที่ 21 ก.ย. 2564 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดสัมมนา เรื่อง การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต ผ่านระบบแพลตฟอร์ม ZOOM โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในหัวข้อบทบาทและความร่วมมือในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ตอนหนึ่งว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ใช่ยาเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่คงมีการรักษายาอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ ‘โมโนโคลนอล แอนติบอดี’ สามารถใช้กับโรคภาวะนี้และช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นโรคนี้ได้

ทั้งนี้  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นองค์กรในกำกับที่มีระเบียบหรือข้อบังคับที่สามารถทำอะไรได้ค่อนข้างคล่องตัวและรวดเร็ว จึงเป็นหน่วยงานที่ช่วยรัฐบาลและประเทศชาติ ทำงานประสานกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ในการเข้ามาปิดช่องว่างนี้ให้ได้

 

“ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี เป็นยาสังเคราะห์ ซึ่งไปจับกับส่วนหนึ่งของตัวไวรัส ทำให้ไม่สามารถเข้าไปในเซลส์ร่างกายของมนุษย์ได้ ฉะนั้นถ้ามียาชนิดนี้รักษาในระยะต้นของผู้ที่มีอาการ จะส่งผลช่วยทำให้คนไข้หายได้เร็วขึ้นและคนไข้ไม่มีอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ด้วย และแม้นจะมีการติดเชื้ออยู่ ก็จะง่ายและสะดวกขึ้นในการดูแลรักษา และไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากเกินไปนัก”  เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โมโนโคลนอล แอนติบอดี เป็นยาชนิดแอนติบอดีค็อกเทล มีการทำงานให้ไวรัสอ่อนกำลังลง ซึ่งจะเข้าไปจับกับโปรตีนส่วนหนามที่อยู่บนผิวของไวรัส ทั้งนี้ จะใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 10 วัน  มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ หรือ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง โดยคาดว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้าและกระจายยาเร็ว ๆ นี้ นอกจากการรักษาที่จำกัดเฉพาะการฉีด