รองนายก อบต.จี้รัฐตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเกาะรังนกพันล. ชุมพร เกือบ 3 ปี เปิดประมูล 12 ครั้ง ล่าสุด ยังไม่มีผู้สัมปทาน หวั่นถูกขโมยเกลี้ยง 

 

วันที่ 21 ก.ย. 2564 นายประกิจ แข่งนัน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร พร้อมด้วยนายมาโนช นามวงศ์ สมาชิก อบต.หมู่ 5 และชาวบ้าน นำผู้สื่อข่าวลงเรือสำรวจเกาะรัง อยู่ในอ่าวทุ่งมหา แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังขึ้นชื่อของจังหวัด ซึ่งอยู่พื้นที่หมู่ 1 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยเป็นเกาะหินขนาดเล็กมีพื้นที่ราว 7 ไร่ ห่างจากฝั่งประมาณกว่า 7 กิโลเมตร เป็นเกาะรังนกนางแอ่นกินรังที่มีมูลค่าการสัมปทานนับพันล้านบาท 

นายประกิจ แข่งนัน รองนายก อบต.ปากคลอง กล่าวว่า เกาะรังเป็นเกาะรังนกนางแอ่นกินรังที่มีจำนวนมากที่สุดของ จ.ชุมพร ที่ผ่านมามีการประมูลตามสัญญาสัมปทาน 5 ปี มีมูลค่าสูงถึงกว่า 800 ล้านบาท หลังหมดสัญญาสัมปทานตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ 3 ปี ได้มีการเปิดซองสัมปทานใหม่แล้ว 11 ครั้ง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ายื่นประมูล และมีการกดราคากลางลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 800 ล้านบาท จนเหลือเพียง 150 ล้านบาท ยังไม่มีผู้ยื่นประมูล ทำให้ช่วงเกือบ 3 ปี อบต.ปากคลอง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ขาดรายได้จากเงินจักสรรภาษีในการพัฒนาร่วม 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยผ่านทางที่ปรึกษาฯ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด แต่ได้คำตอบที่ไม่ค่อยชัดเจนตามความเป็นจริง โดยเฉพาะช่วงที่ปลอดการประมูลการสัมปทานเกือบ 3 ปี ทาง อบต.ปากคลอง ต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี เปิดประมูลมา 11 ครั้ง กลับไม่มีผู้ยื่นการประมูล จนมีการกดราคากลางต่ำลงเรื่อย ๆ

โดยในช่วงปลอดการสัมปทานเกือบ 3 ปี มีเพียงเฉพาะ อส.ที่ทางจังหวัดส่งลงไปดูแลเกาะรังนกดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรังนกจาก อบต.ปากคลอง ได้ลงไปเฝ้าเกาะด้วยแต่อย่างใด ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสว่ารังนกที่ไม่มีผู้ยืนสัมปทานมานานเกือบ 3 ปี ว่าได้ถูกลักโมยไปขายหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงจะต้องมีปริมาณรังนกที่มากขึ้น แต่เมื่อร้องเรียนไปยังผู้เกี่ยวข้องกลับไม่ได้รับความสนใจ อ้างเพียงว่ามีเจ้าหน้าที่ อส.และตำรวจ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฝ้าดูแลอยู่แล้ว

 

“ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อเดินทางไปยื่นร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้นำคณะลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเหลือที่พึ่งสุดท้ายเพียงแห่งเดียว เนื่องจากที่ผ่านมาได้ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแค่ตรวจสอบไปตามระเบียบ ดูจากเอกสารทางราชการเท่านั้น แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ดูของจริงด้วยแต่อย่างไร” รองนายก อบต.ปากคลองกล่าว

 

ด้านนายมาโนช นามวงศ์ สมาชิก อบต.หมู่ 5 ต.ปากคลอง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ไม่มีผู้ยื่นประมูลสัมปทาน จะเป็นเกมหรือฮั้วกันหรืออย่างไร ไม่ขอพูดถึง แต่ขอตั้งข้อสังเกตคือช่วงช่องว่างเกือบ 3 ปี รังนกบนเกาะรังที่มีมูลค่านับพันล้าน รังนกได้มีการลักขโมยบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีปริมาณรังนกจะเพิ่มมากขึ้น รังนกไม่ว่าจะถูกทำลายหรือเสียหายไปตามธรรมชาติ แต่ร่องรอยจะต้องหลงเหลือให้เห็นอยู่ จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ลงไปสำรวจตรวจรังนกในเกาะดังกล่าวนั้นจริง ๆ เพื่อความมั่นใจแก่ผู้จะมายื่นประมูลสัมปทานในครั้งต่อไป ถ้าหากมีรังนกสูญหายต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะช่วงเกือบ 3 ปี หากมีการเก็บขายตามที่มีสัมปทานมาจะมีมูลค่านับพันล้านบาท

 

“มีแนวคิดที่จะเชิญชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปากคลอง ทั้งหมดที่มีปรึกษาพูดคุยกัน ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะเกาะรัง ซึ่งเป็นเกาะพันล้านเป็นสมบัติที่อยู่ในความดูแลรับผิดของตำบลปากคลอง แต่กลับไม่มีอำนาจใด ๆ เลย เกี่ยวกับการประมูลสัมปทานรังนก  หรือหากไม่มีผู้ใดยื่นประมูลสัมปทาน จะเสนอให้ดูระเบียบว่า อบต.ปากคลอง ซึ่งเป็นนิติบุคคลว่าจะเป็นผู้ประมูลเสียเองได้หรือไม่ และเชิญชาวบ้านระดมหุ้นเพื่อทุกคนได้เป็นเจ้าของเกาะรังนกซึ่งเป็นสมบัติของชาวตำบลปากคลอง” นายมาโนชกล่าว

 

นายมานิช อุบลกาญจน์ อดีตคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจัดเก็บภาษีรังนกนางแอ่น จ.ชุมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการมา 1 สมัย 4 ปี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและส่วนใหญ่จะมีข้าราชการได้รับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการและเป็นโดยตำแหน่ง แต่ตัวเองนั้นหลังจากเป็นมา 1 สมัย ไม่มีการเสนอเข้าเป็นกรรมการอีก เพราะเป็นคนรู้มากรู้จริงเกี่ยวกับรังนก อะไรที่ไม่ชอบมาพากลจะไม่เล่นด้วย โดยเฉพาะที่เกาะรังในพื้นที่ ต.ปากคลองแห่งนี้ จะมีรังนกนางแอ่นมาที่สุด ที่ผ่านมาผู้สัมปทานตามสัญญา 5 ปี จะจัดเก็บรังนกตามกฎหมายได้ปีละ 3 รอบ หลังจากนั้นจะปล่อยให้นกได้ทำรังเลี้ยงลูกของมันเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ โดยรอบแรกจะเก็บรังนำได้ประมาณกว่า 1,000 กิโลกรัม รอบที่ 3 ประมาณ 800 กิโลกรัม และรอบที่ 3 จะเก็บได้ราวเกือบ 1,000 กิโลกรัม ราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ50,000-100,000 บาท ขึ้นไป เพื่อความโปร่งใสจึงเห็นด้วยที่จะให้มีการลงไปตรวจสอบรังนกในเกาะรังว่ามีการลักขโมยหรือไม่