เปิดเหตุผล กรมอุทยานฯ ออกประกาศงดประกอบอาหารทุกประเภท ในลานกางเต็นท์-บ้านพัก ป้องกันกลิ่นรบกวน สัตว์ป่าเข้ามาในพื้นที่
 
 
จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกประกาศงดประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวน บริเวณพื้นที่ลานกางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ 
 
นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ออกประกาศงดประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวนบริเวณพื้นที่ลานกางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงนามโดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา
 
สำหรับเหตุผลในการออกประกาศดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ทางสำนักอุทยานแห่งชาติได้มีการเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลกระทบจากการประกอบอาหารบริเวณลานกางเต็นท์ ซึ่งเราเข้าใจดีว่านักท่องเที่ยวทุกท่าน ที่เข้าไปพักแรมในอุทยานต้องการมีกิจกรรมร่วมกัน อยากนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งสามารถทำได้ ถ้าไม่ใช่การประกอบอาหารที่มีกลิ่นและควันรบกวน
 
โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาหารทำให้เกิดควันรบกวนผู้อื่นที่มากางเต็นท์บริเวณเดียวกัน ที่สำคัญพบว่ามีช้างป่า และสัตว์ป่าเดินเข้ามาบริเวณลานกางเต็นท์ เพราะได้กลิ่นอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวได้
 
ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลสำรวจเราได้กำหนดแนวทางรองรับหลังมีการออกประกาศฉบับดังกล่าว คือ เรามีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 155 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีร้านค้าสวัสดิการรองรับนักท่องเที่ยว จำนวน 120 แห่ง และอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่จัดทำร้านค้าสวัสดิการ จำนวน 9 แห่ง มีอุทยานที่อยู่ระหว่างจัดพื้นที่ประกอบอาหารหรือแบ่งโซน อีก 72 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมการและปรับปรุงพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง และอุทยานที่จัดให้ชุมชนท้องถิ่นหรือเอกชนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายอาหารในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอุทยานแห่งชาติ จำนวน 44 แห่ง นอกจากนี้เรายังมีแนวทางอื่นซึ่งทางอุทยานแห่งชาติ อีก 17 แห่ง จะพิจารณาเสนอเข้ามาตามความเหมาะสม
 
"ลองยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามากางเต็นท์ได้ 400 หลัง เมื่อมีการประกอบอาหารพร้อม ๆ กัน หรือไม่พร้อมกันก็แล้วแต่ ทั้งควันและกลิ่นจะเกิดขึ้นมากมายขนาดไหน ย้ำว่าสถานที่ที่เราเข้ามาใช้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เราไม่ได้เน้นกิจกรรมจากมนุษย์เป็นหลัก และอย่าลืมว่าในพื้นที่ที่เราเข้าไปยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ที่ผ่านมากรณีลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ มีช้างป่าออกมาบริเวณลานกางเต็นท์ เพราะต้องการอาหารและทำร้ายนักท่องเที่ยว นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่ง และอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมากคือการบริหารจัดการขยะ แม้เราจะได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกนอกพื้นที่ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งไว้ให้เจ้าหน้าที่ต้องบริหารจัดการ ตรงนี้ต้องอย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ไม่ได้มีภารกิจเดียว พวกเขายังต้องออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า การจัดการขยะก็ทำให้พวกเขาต้องมาแบกรับภาระไว้ด้วย"
 
สำหรับกรณีในประกาศระบุเอกชนเข้ามาดำเนินการ คือการลงประกาศบางครั้งเราไม่สามารถระบุรายละเอียดลงไปทั้งหมด จึงได้มีการระบุให้เอกชนหรือชุมชนท้องถิ่นเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายอาหาร ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าอุทยานแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เมือง เหมือนแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งเอกชนหรือชาวบ้านในพื้นที่ต้องเข้ามาประมูลตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ทั้งนี้ในช่วงแรก ๆ อาจจะต้องสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว แต่เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายท่านที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางธรรมชาติจะเข้าใจ เพราะการท่องเที่ยวที่ดีจะต้องไม่สร้างผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระทบให้น้อยที่สุด จึงจะเป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่อย่างยั่งยืน