สดร.คาดแสงปริศนาอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ยันไม่ต้องกังวล วิทยาศาสตร์อธิบายได้

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงกรณีมีการแชร์ข้อมูลจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ช่วงเย็นวันนี้(22 มิ.ย.64) มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า สีฟ้าอมเขียว จากนั้นได้ยินเสียงดังสนั่นพร้อมกันในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย เขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ฯลฯ ไม่พบรายงานความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จากหลักฐานที่รวบรวมได้ อาทิ ข้อมูลการโพสต์จากหลายแหล่ง และภาพถ่าย เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจาก ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียดังกล่าว เวลาประมาณ 18:30 น. หลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ มีรายงานผู้พบเห็นแสงสีฟ้าอมเขียว พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น เกิดแรงสั่นสะเทือน สร้างความตกใจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานและไม่มีรายงานความเสียหาย ซึ่งจากหลักฐานภาพ และคลิปจากการโพสต์โดยคุณอาลิสา เซยะ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศจะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง แต่ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่าเห็นแสงวาบก่อนที่จะได้ยินเสียงตามมา ซึ่งระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวนั้นจะตกลงมาถึงพื้นโลกและเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมานั้นจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอจนตกลงมาถึงพื้นโลกได้นั้น มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6000 ดวงในทุก ๆ ปี แต่ส่วนมากนั้นตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น มีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า

นายศุภฤกษ์ กล่าวย้ำว่า แต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อยกิโลเมตรในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ จึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก

ด้าน ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน นักวิจัยเชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์โคจร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดเผยว่า ข้อสันนิษฐานที่มีการศึกษาเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่วัตถุตกลงมานั้นจะเป็นวัตถุอวกาศหรือเศษซากจรวด ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กรณีวัตถุตกลงมา สามารถสันนิษฐานได้ 3 ประการ คือ อุกกาบาต ซึ่งจากการตรวจสอบจากเว็บไซต์นานาชาติ พบว่า ขณะนี้อุกกาบาตอยู่ใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่าง 1,900,000 กิโลเมตร จึงไม่น่าเป็นไปได้ ส่วนวัตถุอวกาศ ไม่มีการแจ้งตกในเวลานี้ สุดท้าย จรวดไม่มีเช่นเดียวกัน