กรณีมีหญิงสาวโพสต์ภาพและคลิปช้างป่าบุกพังบ้านเข้ามาหาของกิน ซึ่งมีการแชร์ต่อกว่าหลายหมื่นครั้ง

 

ล่าสุด นางรัชฎาวรรณ ผึ้งประสพพร อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 1 บ้านเฉลิมเกียรติพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความตื่นเต้นว่า เมื่อช่วงตี 2 ที่ผ่านมา ขณะตนนอนหลับสนิทอยู่กับครอบครัวภายในบ้านปูนชั้นเดียว ต้องตกใจตื่นกับเสียงโครมครามคล้ายของสิ่งของตกหล่นภายในครัว จึงออกมาดูถึงกลับตกตะลึงพบช้างป่าละอูจำได้ว่าเป็น “พลายบุญช่วย” ช้างป่าละอูที่ออกหากินตามชุมชนอยู่เป็นประจำกำลังใช้หัวมุดกำแพงครัวที่พังเป็นรูใหญ่ใช้งวงรื้อหาของกินอย่างจ้าละหวั่น จนหม้อกระทะตกหล่นกระจาย โชคดีช้างติดเคาน์เตอร์ครัวเข้ามาในบ้านไม่ได้ ตนจึงตะโกนไล่พร้อมนำโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพไว้ ทั้งนี้ หลังพลายบุญช่วยรื้อหาของกินจนหนำใจแล้วได้เดินหายไปกับความมืด จนรุ่งเช้าจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ

 

นางรัชฎาวรรณ กล่าวอีกว่า ราว 2 เดือนก่อน พลายบุญช่วยเคยเข้ามาหากินถึงบ้านพักตน คงเพราะได้กลิ่นอาหาร ก่อนจะใช้หัวดันกำแพงปูนและฝ้าหลังคาบ้านจนพังทลายมูลค่าเสียหายเกือบ 5 หมื่นบาท หลังเกิดเหตุได้แจ้งให้ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ทราบแต่เรื่องก็เงียบไป หลังจากนั้น พลายบุญช่วย ก็ย้อนกลับเข้ามาหาของกินที่บ้านตนอีกหลายครั้งตรงจุดเดิม ซึ่งตนพยายามเก็บอาหารให้มิดชิดไม่ให้มีกลิ่น ก็ยังไม่วายถูกช้างบุกเข้ามาอีกและครั้งนี้สามารถถ่ายภาพได้ทัน

 

 

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เรื่องช้างป่าออกหากินพังบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย พร้อมสั่งการให้อุทยานฯ ประสาน อบต.ช่วยเหลือวัสดุก่อสร้าง โดยใช้เจ้าหน้าที่อุทยาน ทหารทัพพระยาเสือ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทยช่วย ซ่อมแซมบ้านให้แล้ว สำหรับช้างป่าที่มีพฤติกรรมดื้อไม่ตอบสนองต่อการขับไล่และการผลักดันของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีพฤติกรรมชอบเดินบนถนนและหาออกกินในชุมชนเวลากลางคืน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาระหว่างช้างกับคนให้เข้าไปอยู่ในป่าลึกห่างชุมชนนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหนังสือเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชนเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ถูกต้องเหมาะสม มีข้อมูลครบถ้วน ได้อนุมัติให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ติดตามพฤติกรรมโดยเสนอการติดปลอกคอติดตามตัวสัตว์สัญญาณดาวเทียม เพื่อทราบเส้นทางการเคลื่อนที่ การหากินทางด้านนิเวศวิทยาเพื่อเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ช้างเข้าสู่เขตชุมชน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่รองรับที่จะนำช้างไปปล่อยทั้งในด้านความสมบูรณ์ของพื้นที่ แหล่งน้ำอาหาร และประชากรช้างป่า