"ณัฏฐพล" ครม. อนุมัติ ศธ.ลงนามร่วมกับ"สถานทูต-สภาหอการค้า" แคนาดา เพื่อจัดหาครูต่างชาติล็อตแรกลงสู่โรงเรียนดีประจำตำบลกว่า 300 แห่ง คาดทันเปิดภาคเรียนภายในเดือน พ.ค. 64

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 23 ก.พ. 2564 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ลงมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ ทำ MOU ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และสภาหอการค้าแคนาดาในการสนับสนุนจัดหาครูต่างชาติ เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ ครม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อส่งเสริมสมรรถนะด้านภาษาไปตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2563 ในวันนี้ (23 ก.พ. 64) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากการประชุม ครม. ครั้งล่าสุดว่า มติ ครม. ได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษา สามารถทำสัญญาความร่วมมือกับสถานทูตแคนาดาและสภาหอการค้าแคนาดา เพื่อจัดหาครูต่างชาติมาเพิ่มเติมสู่โรงเรียนดีประจำตำบลจำนวนกว่า 300 โรงเรียนทั่วประเทศ หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

“การเซ็นต์ MOU กับทางสถานทูตแคนาดาและสภาหอการค้าของแคนาดาครั้งนี้ เพื่อจัดหาครูต่างชาติมาช่วยในส่วนของโรงเรียนดีประจำตำบล ที่จะคัดเลือกมาประมาณกว่า 300 โรงเรียน โดยจะพยายามให้ทันภายใน เดือนพ.ค.64 ซึ่งจะเป็นการเสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ โดยเป้าหมายเพื่อให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสเรียนภาษา และภายใน 3-5 ปี สามารถสื่อสารได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถานทูตต่างๆ ที่พยายามผลักดันหา Native Speaker หรือว่าประเทศที่มีพื้นฐานใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เป็นการต่อยอดจากการที่ ครม.อนุมัติ ครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ 10,000 คน และสอนภาษาจีนอีก 10,000 คน เพียงแต่ว่าในช่วงโควิด เราก็ไม่สามารถผลักดันได้ แต่หลังจากที่มีวัคซีนแล้ว ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้” นายณัฏฐพล กล่าว

ทั้งนี้ นายณัฏฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการผลักดันสมรรถนะด้านภาษาครั้งนี้ จะเน้นที่เด็กปฐมวัย เพราะเป็นช่วงวัยสำคัญในการเรียนรู้ภาษา และเน้นเรื่องของการสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งจะสอดคล้องไปกับแผนบูรณาการการศึกษา ที่จะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษจากครูต่างชาติโดยตรง พร้อมเสริมไปกับการเรียนกับครูชาวไทยที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ

นอกจากการพัฒนานักเรียนแล้ว ยังมีแผนระยะยาวในการพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาของครูผู้สอนอีกด้วย สอดรับไปกับกรอบวิทยฐานะใหม่ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพและผลลัพธ์ทางการเรียนของผู้เรียน

“ไม่ว่าจะเป็นครู หรือผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีการปรับทักษะ เราต้องการให้ครูมีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าไปหาข้อมูลที่เหมาะสม เพื่อนำมาผสมผสานในการสอนเพิ่มเติม อันนั้นคือเรื่องหลักๆ เพราะข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นมีอยู่ปริมาณมาก ถ้าครูสามารถเข้าใจเรื่องของภาษาอังกฤษในการหาข้อมูล ความกว้างขวางของความรู้ก็จะมากขึ้น ผมว่า 3 ปีและถ้ามีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขยับวิทยฐานะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้” นายณัฏฐพล กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับประเทศแคนาดาในครั้งนี้ เกิดจากการศึกษาข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เห็นผลงานความร่วมมือระหว่างประเทศแคนาดาในการพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาให้กับประเทศญี่ปุ่น และเห็นผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด