ไทยย้ำหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ญี่ปุ่น คือโอกาสร่วมฝ่าวิกฤต และความท้าทาย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมด้วยนายสึกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในมิติต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจและความห่วงกังวลร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เน้นย้ำความร่วมมือในฐานะมิตรประเทศของอาเซียน โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน ยืนยันพร้อมทำงานร่วมกับอาเซียนในกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้างและเสรี ตลอดจนพร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นในภูมิภาค ในบริบทของโควิด-19 ญี่ปุ่น และพร้อมสนับสนุนการทำงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยืนยัน พร้อมส่งเสริมความเป็นเอกภาพของอาเซียน และพร้อมร่วมมือเพื่อให้พื้นที่อินโด-แปซิฟิก มีความมั่งคั่งและเสรี

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงความยินดีกับนายซูกะ โยชิฮิเดะ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 99 ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแด่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เนื่องในพระราชพิธีสถาปนามกุฎราชกุมารเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตลอดทั้งปีนี้ โลกและภูมิภาคได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ทั้งโควิด-19 ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย ตลอดจนความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นในอนาคต ไทยมองวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสที่อาเซียนและญี่ปุ่นได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ซึ่งกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) ไทยจึงสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้เอกสาร AOIP และร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมในเรื่องนี้ พร้อมทั้งเสนอให้อาเซียนและญี่ปุ่นมุ่งเน้นเป้าหมายและสาขาความร่วมมือที่สอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบัน 3 ประการ คือ ภูมิภาคที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมที่ยั่งยืน ภูมิภาคที่มั่นคง นั้นต้องยึดมั่นในวัตถุประสงค์ตามเอกสาร AOIP ที่จะสร้างภูมิภาคที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งขยายความร่วมมือบนพื้นฐานของหลักการร่วมกัน ส่วน เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ก็ด้วยการเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยไทยยินดีต่อการลงนามความตกลง RCEP และมุ่งหวังให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการนำถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยความเชื่อมโยงที่ได้รับรองเมื่อปีที่แล้ว มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยเน้นการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ไทยและอาเซียนยังคงยินดีต้อนรับนักลงทุนและนักธุรกิจญี่ปุ่น อีกทั้ง ไทยพร้อมร่วมมือในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรับมือกับ 4IR สำหรับ สังคมที่ยั่งยืน นั้นต้องเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ซึ่งไทยและหลายประเทศในอาเซียนพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ โดยจะสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะหารือกับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือด้านปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะทะเล ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างกรอบปฏิบัติการอาเซียนด้านขยะทะเลกับกรอบความร่วมมือ G20 ของญี่ปุ่นในเรื่องนี้