ตำรวจไม่ดำเนินคดีคนขับรถไฟชนกับรถบัสคณะกฐิน ระบุ ใช้ระมัดระวังในจุดที่เพียงพอแล้วและมีกฎหมายพิเศษคุ้มครอง

(12 ต.ค. 2563) ที่ห้องประชุม 2 สภ.เมืองฉะเชิงเทรา พล.ต.ต.ชาคริต สวัสดี ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าพุ่งชนรถบัสของคณะกองผ้าป่าที่กำลังจะเดินทางไปร่วมทำบุญในงานถวายผ้ากฐินยังที่วัดบางปลานัก ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย และบาดเจ็บ 40 ราย

โดย พล.ต.ต.ชาคริต ระบุว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวในวันเกิดเหตุมีทัศนวิสัยไม่ดีเนื่องจากมีฝนตกลงมา จึงทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำ อีกทั้งคนขับรถบัสยังไม่คุ้นเคยเส้นทางโดยเฉพาะจุดตัดข้ามทางรถไฟ ประกอบกับภายในรถมีการเปิดเพลงเสียงดัง และมีผู้โดยสารเต้นรำกันมา จึงอาจทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงหวูดเตือนจากรถไฟ ประกอบกับที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องกั้นรถไฟ แต่มีป้ายเตือนและสัญญาณไฟชัดเจน

นอกจากนี้ จุดเกิดเหตุยังมีลักษณะเป็นทางลาดชัน ผู้ขับขี่ต้องเร่งความเร็วเพื่อให้ผ่านพ้นจุดดังกล่าว โดยที่ภายในรถบัสยังมีผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาต คือ 42 คน แต่ในวันเกิดเหตุมีผู้โดยสารมาทั้งหมด 70 คน ซึ่งมากกว่าปกติ จึงเร่งเครื่องยนต์ขึ้นเนินได้ช้ากว่าปกติ โดยที่ขบวนรถไฟวิ่งมาด้วยความเร็วจึงส่งผลทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ในระยะกระชั้นชิดได้ทัน

สำหรับขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวนี้มีความยาว 439 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งต้องใช้ระยะเบรกหยุดรถมากถึง 600 เมตรตามปกติ จึงจะสามารถหยุดรถได้ โดยที่คนขับนั้นได้มีการเปิดหวีดหรือหวูด พร้อมเปิดไฟให้สัญญาณเตือนแล้วในระยะที่มองเห็นประมาณ 300 เมตร จึงมีการเตือนผู้ข้ามทางแล้ว จึงถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังในจุดที่เพียงพอ

อุบัติเหตุในครั้งนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความประมาทของพนักงานขับรถไฟ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถบัสที่ใช้ความระวัดระวังไม่เพียงพอ นอกจากนี้รถไฟยังมีกฎหมายพิเศษที่ผู้ข้ามทางจะต้องใช้ความระมัดระวังเอง เมื่อเห็นว่ามีความปลอดภัยแล้วจึงจะข้ามได้ และทางข้ามดังกล่าวยังเป็นทางลักข้ามที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นเพียงทางข้ามที่ท้องถิ่นและชาวบ้านใช้ตัดผ่านข้ามกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีทางข้ามลักษณะดังกล่าวจำนวน 16 จุด

ขณะนี้ทาง นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งการให้ อปท. ในพื้นที่ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลที่มีเส้นทางตัดข้ามทางรถไฟ ดำเนินการจัดหางบประมาณในสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟแบบอัตโนมัติ จุดละประมาณ 3.5 ล้านบาทไปก่อนทั้ง 16 จุด เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และจะประสานขออนุญาตไปยังทางการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป โดยจะถือโอกาสนี้ใช้เป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดอื่น ๆ ในการหาหนทางแก้ไขและป้องกันปัญหาในลักษณะนี้ เช่นเดียวกัน

ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของรถบัสที่มีการปล่อยละเลยให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนกว่าพิกัดบรรทุกหรือบรรทุกคนเกินจำนวนนั้น จะได้ให้ทางสำนักงานขนส่งมาแจ้งความร้องทุก เพื่อดำเนินคดีต่อทางเจ้าของรถต่อไป และจากการตรวจสอบการทำประกันภัยของรถบัสหมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา แล้วนั้น พบว่ามีการทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย

ซึ่งมีวงเงินทุนประกันภัยในการชดเชยค่าเสียหายกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 5 แสนบาทต่อคน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง นอกจากนี้ยังมีการทำประกันภัยในภาคสมัครใจ ประเภท 3 ไว้กับทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีวงเงินความคุ้มครองการเสียชีวิต 5 แสนบาทต่อคน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้งเช่นกัน ซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลรายบุคคลที่มีวงเงิน 5 หมื่นบาทเท่ากันทั้ง 2 ประเภท