"เสรี พิศุทธ์" ด่ากราดถึงที่มา รธน. 60 ทำ "บิ๊กติ๊ก" ไม่ทน ประท้วงหลังพลาดพิงลูก ขณะที่องครักษ์พิทักษ์นายกเดือด!! บอกหาก รธน.ไม่มีดีจริง พรรคการเมืองบางพรรคคงไม่โอกาสเข้าสภา

ช่วงหนึ่งของการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ญัตติ ที่พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันเสนอ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปราย ว่า ที่ตนลงชื่อสนับสนุนญัตติฝ่ายค้านทำตามมารยาท เพราะตนและพรรคไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ของฝ่ายค้านและรัฐบาล

จากนั้น พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ก็ร่ายยาวถึงประวัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ถึง 2 รอบ  รอบแลกร่างโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ก็ไม่เอา เพราะอยากอยู่ยาว จึงตั้งชุดที่สอง และไปตั้ง"เฒ่าสารพัดพิษ"มาเป็นประธาน

ทำให้นายชวน ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่เหมาะสม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงขอเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘เฒ่าเจ้าเล่ห์’  จนนายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงเรื่องการใช้คำพูดไม่เหมาะสม และการนำเอกสารขึ้นมาอ่านผิดข้อบังคับ

แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ยังคงอภิปรายพลาดพิงถึงบุคคลภายนอก ตอนหนึ่งกล่าวว่า คสช.โฆษณาว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉบับปราบโกง แต่กลับพบการทุจริต ทั้งการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หลานชายพลเอกประยุทธ์ ตั้ง บริษัทไปรับงานในค่ายทหาร ประเด็นนาฬิกาหรู ทำให้ พล.อ.ปรีชา ลุกประท้วงและชี้แจงประเด็นหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “คนเรามีสิทธิ์ประกอบอาชีพของตนเอง และอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ใส่ร้ายป้ายสี นำเรื่องไม่จริงมากล่าวกับที่ประชุมแห่งนี้ ตนขอให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด”

ขณะเดียวกันพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังนำภาพประกอบการอภิปราย ซึ่งปรากฎภาพของ ส.ว.หลายคนที่เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติเกี่ยวข้องของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และให้ชื่อว่าส.ว.เพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่ง พล.อ.ปรีชา ก็ได้ลุกประท้วงอีกว่า ภาพของตนที่ปรากฎในแผ่นภาพยังไม่ได้ขออนุญาต พร้อมทำสีหน้าไม่ค่อยพอใจนัก

แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่สนใจกล่าวอภิปรายโจมตีที่มานายกฯรัฐมนตรีต่อ

ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงว่าไม่ให้ผู้อภิปรายกล่าวถึงบุคคลภายนอกหากรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีดีจริง พรรคการเมืองบางพรรคคงไม่มีโอกาสเข้าสภา ที่ได้เข้ามาเพราะเป็นคุณของรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวสรุปการอภิปราย ว่า การพิจารณาญัตติดังกล่าว คือ การต่ออายุให้พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ในอำนาจ ดังนั้น จึงเสนอความเห็น ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำฉบับประชาชนมาพิจารณา สุดท้ายค่อยยุบสภาเพื่อเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และวิธีที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกได้คือให้พรรคร่วมรัฐบาล คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล แค่นี้พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีทางออก จากนั้นให้เลือกนายกฯใหม่ ขอย้ำว่าให้รีบตัดสินใจ ถ้ารีบลาออก ประเทศจะเดินหน้าต่อ นักศึกษาก็จะหยุด แล้วจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ