ป.ป.ส. เผยผลงานแก้ไขปัญหายาเสพติด รอบ 1 ปีตามนโยบายรัฐบาล สร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ลดผู้ค้า/ผู้เสพรายใหม่ ดูแลผู้ผ่านการบำบัดกลับคืนสู่สังคม ลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่รุนแรงแล้ว 21,963 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 94.9

 

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนําของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 กําหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายหลักและนโยบายเร่งด่วน เพื่อสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ป้องกันเส้นทางการนำเข้าส่งออก โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดจำนวนผู้ค้า/ผู้เสพรายใหม่ และฟื้นฟู ดูแล รักษาผู้เสพที่ผ่านการบำบัดให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ได้แก่ การสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง การตัดวงจรยึดทรัพย์ยาเสพติด การผลักดันกฎหมายยาเสพติดให้ทันสมัย การขับเคลื่อนนโยบายพืชเสพติด และการต่อต้านยาเสพติดในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ภายใต้ “แผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511” สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับ 28 หน่วยงานภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ได้ทุ่มเท เสียสละ และร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกมิติ จนปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ดังนี้

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเชิงรุก ยกระดับความร่วมมือและมุ่งเน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ไม่ให้ไหลเข้าสู่แหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และมิให้ออกจากแหล่งผลิตเข้าสู่ประเทศไทย และส่งผ่านไปประเทศอื่นๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (2562-2565) ระหว่าง กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 จำนวน 8,983 ครั้ง ส่งผลให้ทำลายแหล่งผลิตได้ 29 แห่ง และยึดยาบ้า 349.7 ล้านเม็ด ไอซ์ 18.5 ตัน เฮโรอีน 2.2 ตัน และยึดสารตั้งต้น 15.5 ตัน สามารถหยุดการผลิตยาบ้าได้มากถึง 12,375 ล้านเม็ด หรือ ไอซ์ 262.2 ตัน หรือ เฮโรอีน 198 กก. กาเฟอีน 10.9 ตัน และเคมีภัณฑ์ 1,046.3 ตัน

ด้านการปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปราบปรามยาเสพติดแบบครบวงจร โดยการเพิ่มความเข้มงวดตามแนวชายแดน ใน 15 จังหวัด 40 อำเภอ 19 ช่องทาง ทางท่าอากาศยานนานาชาติ และทางท่าเรือ จนสามารถจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศได้ 396,495 คดี ผู้ต้องหา 412,779 คน ของกลางยาบ้า 337.82 ล้านเม็ด ไอซ์ 26.17 ตัน ขยายผลใช้มาตรการสมคบ 4,026 ราย และตรวจสอบทรัพย์สิน 2,055 ราย ยึดและอายัดทรัพย์สินมูลค่า 2,107.75 ล้านบาท ใช้มาตรการฟอกเงิน32 คดี และมาตรการประมวลรัษฎากร (ภาษี) 5 คดี ดำเนินคดีนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ 106,765 คดี คิดเป็นร้อยละ 27 และจับกุมผู้ต้องหา 119,100 คน คิดเป็นร้อยละ 29

ขณะเดียวกันมีการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามข้อร้องเรียนผ่านสายด่วน ป.ป.ส. 1386 จำนวน 19,602 เรื่อง ซึ่งได้ตรวจสอบข่าวสารทุกเรื่อง สามารถดำเนินการตามข้อร้องเรียนได้ 16,308 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 83.20 รวมถึงดำเนินการลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่รุนแรง จำนวน 23,140 หมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการแล้ว 21,963 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 94.9

 

ด้านการป้องกันยาเสพติด โดยสร้างการรับรู้และเพิ่มภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรทั่วไป 47.8 ล้านรายจากเป้าหมาย 33.5 ล้านราย จำแนกเป็นเด็กและเยาวชน 8.1 ล้านราย แรงงาน 1.5 ล้านราย และประชาชน 38.1 ล้านราย ผ่านช่องทางต่างๆ และสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มวัยเสี่ยงสูง 15-24 ปี โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคี ดำเนินการได้ 4.78 ล้านราย จากเป้าหมาย 4.85 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 98.64 นอกจากนี้สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวกและควบคุมปัจจัยเสี่ยงครอบคลุม 5,116 ตำบล/48 เขต คิดเป็นร้อยละ 70.69 จากเป้าหมายร้อยละ 50 ของ 7,255 ตำบล/50 เขต ทั่วประเทศ จำแนกเป็นในสถานศึกษา 6,779 แห่ง สถานประกอบการ 2,400 แห่ง และหมู่บ้าน/ชุมชน 4,445 แห่ง

ด้านการบำบัดรักษายาเสพติดดำเนินงานภายใต้นโยบาย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ฟื้นฟู ดูแล และรักษา พร้อมสร้างโอกาสอาชีพและรายได้ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม โดยนำผู้เสพ/ผู้ติดเข้าบัดรักษาในทุกระบบ 199,175 รายให้บริการเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด 38,364 ราย ติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด 208,801 ราย และให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 3,475ราย และสามารถดูแลผู้เสพยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ ภายใน 3 เดือน หลังสิ้นสุดการบำบัด ได้ถึงร้อยละ 97.67

          ด้านการขับเคลื่อนนโยบายพืชเสพติด โดยพัฒนาพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ลดทอนความเป็นอาญาเปิดโอกาสให้ศึกษาวิจัยเพื่อใช้ทางการแพทย์และใช้ตามวิถีชาวบ้านกำหนดพื้นที่นำร่องแล้ว135  หมู่บ้าน/ชุมชน ใน 10 จังหวัด ด้านนโยบายกัญชงปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขณะนี้เปิดโอกาสให้ใช้ตามวิถีชาวบ้านมีพื้นที่ขออนุญาตปลูกแล้ว601 ไร่ ใน 4จังหวัด และด้านกัญชาเน้นพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์การวิจัย และเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วยโดยสำนักงาน ป.ป.ส. ประสานขอรับของกลางกัญชาที่มีการจับยึดทั่วประเทศ และขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา เพื่อให้หน่วยงานที่ต้องการนำไปศึกษาวิจัยได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 15 หน่วยงาน 3,866 กก.

ด้านการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เฉพาะได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จเน้นแก้ไขเชิงโครงสร้างในพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติดำเนินการแล้ว 43 แห่ง จากเป้าหมาย 47 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.492) การสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เน้นสกัดกั้นจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและพื้นที่ชายแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนใน และสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านตามแนวชายแดนดำเนินการครบทั้ง40 หมู่บ้านชายแดน 55 หมู่บ้านรอบด่าน คิดเป็นร้อยละ 100 และ 3) เสริมสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยใน 5,995 หมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เน้นสร้างชุมชนเข้มแข็งและมวลชนญาลันนันบารู ครบทั้ง 2,145 หมู่บ้าน/ชุมชน และสร้างมวลชนญาลันนันบารู ได้กว่า 10,000 คน

       นายนิยม เติมศรีสุข ​​เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น ประชาชนในพื้นที่ถือเป็นกำลังสำคัญยิ่ง รัฐบาลยังคงเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม มีกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับ ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชน เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติดมากขึ้นสำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปเน้นความร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านยุติแหล่งผลิตนอกประเทศ ลดการแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติดสร้างพื้นที่ปลอดภัยระดับพื้นที่เพิ่มขึ้นลดผู้เสพรายใหม่และจัดทำกฎหมายเพื่อควบคุมพืชกระท่อม เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ตามวิถีชาวบ้าน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลดความเดือดร้อนและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน

ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย “สมัครใจบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”

แจ้งเบาะแสยาเสพติด สายด่วน ป.ป.ส. โทร.1386

SAVE ZONE, NO NEW FACE พื้นที่ปลอดภัย ไม่มีคนหน้าใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช้ยาเสพติด