เวทีเสวนาถอดบทเรียนคดี "บอส กระทิงแดง" ชี้เป็นเคสตอกย้ำระบบอุปถัมภ์กัดกินทุกแวดวง เรียกร้องนายกฯรื้อคดีโดยเร็ว ห่วงเป็นฟางเส้นสุดท้ายของยุค จุดชนวนบานปลายซ้ำรอย "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ขณะที่ อัยการ-อดีตผู้การจเรตำรวจ เห็นพ้องคดีนี้ "อัยการเป็นแพะ" เหตุตำรวจเป็นผู้ทำสำนวนทั้งหมด

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ.ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป.จัดเวทีเสวนาสาธารณะ


"บทเรียนกรณีบอสกระทิงแดง: จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรไม่ให้คนผิดลอยนวล" โดยผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นพ้องกันว่า คดีนี้มีความไม่ชอบมาพากล ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องของอำนาจเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และยิ่งตอกย้ำความผิดปกติหลังพยานปากเอกในคดีนี้เสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติ ซึ่งพยานคนนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบข้อสงสัยได้ว่า พยานที่เพิ่มเข้ามาใหม่เป็นเท็จหรือไม่ นอกจากนี้ในวงเสวนาส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นการตั้งกรรมการสอบของทั้งตำรวจและอัยการ ว่าจะได้ผลที่นำไปสู่การรื้อคดีได้

อย่างพ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.ก้าวไกล อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน กล่าวยืนยัน ว่า ตนเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุและจำลองเหตุการณ์ถูกต้อง ดังนั้นควรสนใจหลักฐานที่ถูกเก็บได้จริง มากกว่าคำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งของนักวิชาการที่ออกมาคำนวณหักล้างหลักฐานเดิม

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า คดีนี้ตอกย้ำรากลึกของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย จึงห่วงว่าเหตุการนี้จะบายปลายซ้ำรอย คดีทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งทางแก้ไขผู้มีอำนาจควรออกมาตอบคำถามสังคมให้ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยินเสียงประชาชนแล้ว ได้ตั้งคณะกรรมการที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาตรวจสอบ และยังสั่งให้ชะลอการฌาปณกิจศพพยานในคดีที่เสียชีวิต เพื่อชันสูตรตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ คลายความข้องใจทั้งหมด ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยก็ตอบสังคมได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นคำตอบจะพอใจได้มากแค่ไหน เวลาจะเป็นครื่องพิสูจน์

พร้อมเรียกร้อง นายกฯให้เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

เช่นเดียวกับ นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่มองว่า ตัวปัญหาของเรื่องนี้คือระบบอุปถัมภ์ที่มันกัดกินอยู่ในสังคมไทย ลามไปทุกแวดวง ยิ่งเจาะลึกยิ่งลามไปถึง ส.ว. สนช. และลามไปวงกว้าง ดังนั้นหากผู้บริหารสูงสุด เพิกเฉยยังปล่อยให้คดีลากไปโดยค้านสายตาประชาชน คดีนี้อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายในยุคของเรา

ส่วน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. อดีตผู้การจเรตำรวจ มองเข้าไปในเชิงระบบ ว่า ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมไทย กลายเป็น "กระบวนการยุติธรรมอำมหิตสำหรับคนจน" ที่น่าเศร้าคือมันเกิดขึ้นบ่อย จนหลายคนทำใจ และการปล่อยให้การทำสำนวนอยู่ในมือตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ถือเป็น "อาชญากรรมในการสอบสวนคดี" เพราะจะไม่มีวันได้รู้ความจริง หรือมีพยานหลักฐานคบแค่ไหนก็อาจหาช่องรอดได้ หลายคดีตำรวจชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จะสั่งให้รวบรวมหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานอะไรแค่ไหนก็ได้ การสั่งให้สอบเพิ่มเติมของอัยการก็มีข้อจำกัดอย่างมาก สามารถทำได้เฉพาะจากพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนเท่านั้น ทำให้อัยการตกแพะมาโดยตลอด รวมถึงคดีนี้ด้วย อย่างเรื่องความเร็วตำรวจก็มากล่าวอ้างในภายหลังว่า คำนวณผิดพลาดไปร้อยกว่า ซึ่งมันถือว่าหน้าด้านเกินไป ดังนั้นการแก้ไขควรให้ อัยการเข้าไปเห็นของจริง ไม่ใช่แค่นั่งรอสำนวนจากตำรวจ

สอดคล้องกับ นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มองว่า อัยการมักตกเป็นแพะเสมอ ที่ผ่านมาตนจึงเรียกร้องการมีระบบที่ไม่ไว้ใจใครเลย ควรให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปรับรู้พยานหลักฐานร่วมกัน เพื่อปิดโอกาสที่จะบิดเบือนกฎหมาย บิดเบือนวิทยาศาสตร์ และบิดเบือนความจริง และเมื่อทุกฝ่ายรู้เท่ากัน การดำเนินคดีหรือทำสำนวนต่างๆก็จะเสร็จภายใน 3 เดือน เพราะหากยิ่งปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้น

ขณะที่ผู้จัดงานเสวนา ได้แถลง 4 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ก่อนปัญหาจะบานปลายกลายเป็นไฟไหม้ฟาง โดย 1.ขอให้รัฐบาลรื้อคดีขึ้นใหม่ โดยสามารถใช้หลักฐานเก่าที่ไม่ปรากฎในสำนวนคดีตั้งเป็นหลักฐานใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสารเสพติดแปลกปลอมในร่างกายผู้ต้องหาก / 2.ขอให้รัฐบาลตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีว่าบกพร่องในหน้าที่ รับส่วย หรือ ประพฤติมิชอบหรือไม่ 3. ขอให้รัฐบาลแยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจการสืบสวนจับกุมของตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดระบบตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม และ 4.ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมที่ค้างอยู่เพื่อปฏิรูปตำรวจ อัยการ ศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ