"วราวุธ" ลงพื้นที่ตรวจงานซ่อมแซม "บ้านหลุยส์" อายุ 114 ปี จ.ลำปาง ย้ำกับทายาทคนสุดท้าย ไม่รื้อแน่นอน จะประสานกระทรวงวัฒนธรรม ซ่อมใหม่ตามรูปแบบเดิม ไม่ดราม่าเหมือนกรณีบอมเบย์เบอร์มา

(1 ส.ค. 2563) ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าจังหวัดลำปาง ยื่นหนังสือต่อ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการซ่อมแซมบ้านหลุยส์อายุ 114 ปี ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือตอนบน เป็นอาคารโบราณ 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ ภายในตัวบ้านที่เป็นไม้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จำเป็นต้องเร่งซ่อมแซมบูรณะโครงสร้างทั้งหมด แต่เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าจังหวัดลำปางเกรงว่า บูรณะซ่อมแซมออกมาไม่เหมือนเดิม หรืออาจจะถูกรื้อถอนเอาไม้เก่าบางส่วนออกไป เหมือนกับกรณีบ้านไม้ "บอมเบย์เบอร์มา" ที่ จ.แพร่

นางสุวภรณ์ ชูโต ทายาทคนสุดท้ายตระกูลหลุยส์ เลียวโนเวนส์ เจ้าของบ้านหลุยส์หลังนี้ บอกเล่าประวัติความเป็นมาและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้ว่า เจ้าของบ้านคือหม่อมราชวงศ์หลุยส์ โทมัส เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ท่านเป็นบุตรชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ พระอาจารย์ฝรั่งของบรรดาเจ้าฟ้าในพระบรมราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาหม่อมราชวงศ์หลุยส์ ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง มีหน้าที่ติดต่อขอสัมปทานไม้ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และก่อตั้งริษัทบริติชบอร์เนียวขึ้น และใช้บ้านหลุยซ์หลังนี้เป็นสำนักงานและบ้านพักของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จนอายุมากถึง 114 ปี ตัวอาคารเริ่มเก่าและทรุดโทรมจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซม

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณในการสำรวจและซ่อมแซมอาคารโบราณผ่านกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อาคารใดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพย์ฯ ก็จะประสานกระทรวงวัฒนธรรม เข้ามาช่วยสำรวจและออกแบบการซ่อมแซมให้คงลักษณะของโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเรื่องเหมือนบ้านไม้บอมเบย์เบอร์มาแน่นอน และในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วย

สำหรับบ้านหลุยส์ ตอนนี้ได้จัดสรรงบประมาณผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จังหวัดลำปาง 2.9 ล้านบาท เบื้องต้นจะเร่งซ่อมแซมในส่วนของหลังคาเนื่องจากตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝน เกรงว่าหากปล่อยไว้แบบนี้จะทำให้โครงสร้างหลักของตัวอาคารได้รับผลกระทบ โดยกำหนดการส่งมอบงานภายใน 210 วัน ต้องแล้วเสร็จ