เวทีชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด กังวล พ.ร.ก.กู้เงิน หวั่นใช้งบประมาณไม่ตรงจุด แนะ ควรมีภาคประชาชน-สื่อมวลชน ร่วมตรวจสอบ

(1 ส.ค. 2563) นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการใน พ.ร.ก.กู้เงินฯ กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะ "ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด ช่วยเศรษฐกิจ หรือเป็นพิษกับประชาชน" ถึงเงินกู้ฟื้นฟูโควิดว่า พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3 ฉบับนั้น ที่กู้จริงคือ ตัวก้อนวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีมีการระบาด ด้านการเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท ที่จ่ายตรงไปผู้รับผลกระทบ และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งการใช้เงินลักษณะนี้ประเทศอื่นก็ทำ อย่างออสเตรเลีย เยอรมนี ใช้มาตรการการคลัง 4% ของจีดีพี ญี่ปุ่น 16% ส่วนไทยหากเทียบแล้วอยู่ที่ 7-8%

ทั้งนี้ ก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะใช้ใน 4 ส่วน คือ
1.เพิ่มศักยภาพประเทศ เช่น การใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร
2.เศรษฐกิจฐานราก เน้นเรื่องการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งชุมชน
3.กระตุ้นการบริโภค เช่น เราเที่ยวด้วยกัน
4. โครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องเกิดประโยชน์ในแง่เกิดการหมุนเวียน ตอบโจทย์พื้นที่

ขณะนี้ ครม. ได้อนุมัติแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบอีก 160 โครงการเล็ก ๆ ราว 800 ล้านบาท กระจายไปยัง 58 จังหวัด โดยจะเสนอ ครม. ในสัปดาห์หน้า ส่วนที่ให้ไม่ครบทุกจังหวัด เพราะบางโครงการอาจไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง

พร้อมระบุว่า บางโครงการที่ไม่ผ่าน เช่น การจัดงานอีเวนต์ 1-2 วัน แล้วเลิกไป ทำอบรมอย่างเดียว แต่โครงการที่ให้เช่นเกิดประโยชน์ระยะยาว อย่างภาคใต้ที่ทำโครงการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพารา มาปลูกพืชผสมผสาน โครงการกลุ่มเกษตรกร ที่ขอให้รัฐสนับสนุนการผลิต แปรรูป แต่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เพื่ออัปเกรดผลิตภัณฑ์

ด้านนานสมชาย แสวงการ ประธารกรรมการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้ความเห็นต่อการใช้งบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่แก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดและรักษาชีวิตประชาชนได้ดี แต่เนื่องจากมีการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตนเองมีความกังวลเรื่องการใข้เงินกู้ให้เหมาะสมกับปัญหาประเทศที่ต้องตรงเป้า ทั่วถึง และคุ้มค่า

พร้อมระบุว่า โครงการ กว่า 4 หมื่นโครงการที่เสนอไปยังกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการใน พ.ร.ก.กู้เงินฯนั้น ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ แต่ควรให้มีภาคประชาชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชน มีส่วนร่วมในการด้วย เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และไม่ให้เกิดการทุจริต โดยยกตัวอย่างการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ เช่น โครงการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิดในหลายพื้นที่ ที่เงินมักจะหายไปกับการทุจริต ไม่ได้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) ยอมรับว่า มีความกังวลอย่างมากต่อการใช้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ พร้อมระบุว่า อย่าเชื่อเด็ดขาดว่าในประเทศไทยจะไม่มีการทุจริต พร้อมแสดงสิถิติข้อมูลจาก ป.ป.ช. ระหว่างวันที่ 3 เม.ย. - 30 พ.ค. 2563 พบมีเบาะแสการทุจริตกว่า 1,300 ข้อมูล และพบว่าพบว่ามีความเสี่ยง 974 ข้อมูล (75%) และมีความเป็นไปได้ในการทุจริตสูงถึง 129 ข้อมูล

ขณะเดียวกัน ยังกังวลว่า ในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการดึงงบประมาณไปใช้เพื่อผลประโยชน์ด้านการเมือง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง เช่น จัดทำโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริง ดังนั้น ควรให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเห็นข้อมูลการใช้งบประมาณได้อย่างเปิดเผย และมีสิทธิ์ในการชี้เป้าหากพบข้อสงสัยว่ามีการทุจริต พร้อมทั้งควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้การใช้เงินก้อนนี้ให้มาก และตระหนักร่วมกันว่าเงินเหล่านี้เป็นของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อป้องกันให้มีการโกงเกิดขึ้นน้อยที่สุด