อัยการสูงสุด ประชุมนัดแรกคดีอัยการอาญากรุงเทพใต้ สั่งไม่ฟ้อง "บอส วิทยา" คดีขับรถชนตำรวจ โดยจะพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม ภายใน 7 วัน

ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรอบของการประชุมนัดแรกในการตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีของอัยการคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ 1 หลังสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา" ว่า จะมีการพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักตามที่อัยการสูงสุดได้สั่งการ ในประเด็นแรกคือ คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่ 2 เป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ และประเด็นที่ 3 มีเหตุและผลอย่างไรที่พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง  โดยอัยการสูงสุดมีกรอบให้ทำงาน 7 วัน ในการสรุปประเด็นดังกล่าว

ส่วนที่สังคมมีการตั้งข้อสังเกตุต่างๆ เช่น เรื่องพยานบุคคล 2 ราย ที่ทำให้อัยการเชื่อได้ว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานประมาทร่วม แทนข้อกล่าวหาเดิม ในรายละเอียดคงไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการนำความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลมาเป็นประเด็นพิจารณาหรือไม่ ซึ่งจะต้องอยู่ที่คณะกรรมการว่าจะนำเข้าพิจารณาหรือไม่

ส่วนกรณีที่อัยการและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตรงกัน จะสามารถรื้อฟื้นคดีนี้มาได้อีกหรือไม่นั้น รองโฆษกอัยการสูงสุด ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปในประเด็นนี้ ขอให้คณะทำงานได้ตรวจสอบสำนวนทั้งหมดก่อน แต่ตามหลักของกฎหมายแล้ว หากความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด อัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้ เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี หรือ ญาติของผู้เสียหาย ยื่นฟ้องต่อศาลเอง ซึ่งเป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความกันได้

สำหรับการทำงานของอัยการสูงสุดในขณะนี้ ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยการทำงานว่าเป็นกลางหรือไม่นั้น  ยืนยันว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะหาข้อเท็จจริง รวมทั้งการสั่งคดี การทำงานของอัยการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า หากผลการตรวจสอบพบว่ามีการทำงานบกพร่องจะลงโทษกับพนักงานอัยการผู้สั่งคดีหรือไม่ ขอให้คณะทำงานพิจารณาก่อน

สำหรับกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งตั้งพลตำรวจเอกศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 10 ราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่

พลตำรวจเอกศตวรรษ เปิดเผยว่า แม้จะยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้นัดหมายให้คณะกรรมการที่มีรายชื่อทั้งหมด ไปประชุมเรื่องนี้เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการที่จะร่วมพิจารณาข้อเท็จจริง จะเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เช่น จเรตำรวจ , ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอการหารือในที่ประชุมก่อน แต่ยืนยันได้ว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว จะเร่งพิจารณาข้อเท็จจริงทันที เพื่อหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อีกทั้งผู้บัญชากานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง ก็ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด