คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA มีชื่อว่า "CU-Cov19" หลังทดสอบกับลิงได้ผลดี เตรียมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ ประมาณเดือนตุลาคม

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬา เผยว่าวัคซีน CU-Cov19 ชนิด mRNA ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้
 
โดยทดลองครั้งแรกกับหนู พบว่าได้ผลดี จึงได้พัฒนากับลิง สัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่ขึ้นต่อ โดยครั้งแรกทดสอบในลิง 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้รับวัคซีนโดสสูง , กลุ่มที่ 2 จะได้รับวัคซีนโดสต่ำ , และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มลิงที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่าหลังจากลิงได้รับวัคซีน 2 สัปดาห์ ลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูง และพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ จากผลการทดสอบ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีน เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) โดยตามแผนจะเริ่มประมาณเดือน ตุลาคม-ธันวาคมนี้ โดยกลุ่มแรกจะเน้นความปลอดภัย อายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 75 คน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 45+30 คน โดยทดลองมนุษย์ ระยะที่ 1 ไม่เกิน 2 เดือน และหลังจากนั้นจะเริ่มทดลองในกลุ่มที่ 2 อายุระหว่าง 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่เปิดรับอาสาสมัคร ขอเตรียมข้อมูลให้พร้อมที่สุด คาดว่าจะรับอาสาสมัครได้ประมาณเดือนกันยายน โดยวัคซีน ถือเป็นแผนป้องกันโควิด-19 ในระยะยาว โดยจะเร่งวิจัยในประเทศ และร่วมวิจัยกับต่างประเทศ