ชุดพยัคไพร เดินหน้ารื้อรีสอร์ทม่อนแจ่ม 1 ใน 29 แห่งที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี พร้อมส่ง จนท.แจ้งความเพิ่ม หลังพบมีบางรายยังรีวิวที่พักลงโซเชียลเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาพัก ด้าน ผช. รมว.ทส.เตรียมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า

เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และชุดพยัคไพร เข้ารื้อถอนบ้านพักรีสอร์ท 8 หลัง บนดอยม่อนแจ่ม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 29  แห่ง ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ  โดยเจ้าของอาคารดังกล่าวยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอน  

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เตรียมเดินหน้าทำความเข้าใจกับชาวบ้านและผู้ประกอบการ เพื่อเร่งรื้อถอนรีสอร์ทที่เหลือต่อไป โดยวันที่ 12 กรกฏาคมนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินทางมาติดตามความคืบหน้า การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาดอยม่อนแจ่ม ที่มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541

ด้าน นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ซึ่งนำกำลังเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสำรวจ และรื้อถอนที่พักรีสอร์ท ระบุว่า ที่ผ่านมาพบมีผู้ประกอบการบางรายยังโฆษณาและรีวิวเชิญชวนนักท่องเที่ยว ให้เดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนในสถานที่พักของตนเอง จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.แม่ริม กับผู้ประกอบการที่พักจำนวน 28 รายเพื่อตักเตือนไม่ให้มีการโฆษณาเชิญชวนอีก

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้เร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ หลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการรื้อถอนบ้านพักและรีสอรท์ ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีจำนวน 29 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการที่พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการต่อ 

สำหรับ 29 รายที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเกินความจำเป็น ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าเพิ่มเติม หรือบุกรุกพื้นที่ใหม่  รวมทั้งมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และให้นอมินีเข้ามาถือครอง จึงต้องบังคับใช้กฎหมายให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์ดังเดิม โดยหลายรายก็เตรียมที่จะรื้อถอน แต่รายไหนไม่ยอมรื้อถอนทางราชการจะเข้าไปรื้อถอนและเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป จึงขอแจ้งให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎเกณฑ์และกติกา เพราะก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ารื้อถอนได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเอกสารหลักฐานมาโต้แย้งแล้วก่อนจะออกประกาศให้รื้อถอน

ส่วนชาวบ้านที่เหลืออีก 80 กว่าราย จากการตรวจสอบพบยังเป็นผู้ครอบครองเดิม แต่บางรายมีการก่อสร้าง หรือประกอบกิจการที่พัก-รีสอร์ท ซึ่งไม่เป็นไปตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายปกครองดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯแล้ว