กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ค.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญฯ ติดลบ -22.50% เป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.52 จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -5.8 ถึง -6.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,584 ล้านเหรียญฯ หดตัว -34.41% จากตลาดคาดติดลบ -18% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,694.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.63 หดตัวลงมาก มีสาเหตุสำคัญจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของหลายประเทศทั่วโลกลดลง และยังประเมินได้ยากว่าจะลากยาวไปถึงเมื่อใด นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในเดือน พ.ค.62 จึงทำให้มีอัตราติดลบในระดับสูง "ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากโควิด ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกไทยในเดือนพ.ค.นี้ เช่นเดียวกับหลายประเทศ รวมถึงอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ แต่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า"น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ อย่างไรก็ดี แม้สินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ แต่สินค้าไทยหลายรายการยังสามารถประคองตัวเองได้ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอาหารที่พบว่าในเดือน พ.ค.มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% จากเดือน เม.ย.ที่ขยายตัวได้ 15-16% ผู้อำนวยการ สนค.เชื่อว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการส่งออกในแต่ละ sector ต่างยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวได้เมื่อใด แต่ประเมินว่าการส่งออกในช่วงหลังจากนี้ไปจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้น และไม่ต่ำไปมากกว่านี้แล้ว ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการระบาดของโควิดในระลอกสองจนทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

พร้อมกันนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องหันมาเน้นการทำตลาดเชิงรุก และการค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมของสินค้าไทยสามารถกลับเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง "สิ่งที่เรากังวลตอนนี้ คือตัวเลขการส่งออกและการค้าทั่วโลก หากส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา คนในประเทศจะมีแหล่งรายได้ลดลง จากที่ประเมินดูแล้วการท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติคงไม่กลับมาทันภายในปีนี้ ขณะที่การส่งออกก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ ซึ่งถ้าคนขาดรายได้ ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย นี่เป็นสิ่งที่เรากังวล" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว ขณะเดียวกัน ได้มีข้อเสนอแนะไปถึงภาครัฐที่ควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดทอนผลกระทบจากรายได้ประชาชนที่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยในภาคการค้าและการส่งออกนั้น รัฐควรให้ความช่วยเหลือตามแนวทางดังนี้ 1.สนับสนุนบริษัทส่งออก ผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงนโยบายการช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อประคองธุรกิจในภาวะที่การส่งออกยังมีความไม่แน่นอนสูง 2.ส่งเสริมการตลาดในสินค้าที่มีความต้องการซื้อสูงในช่วงนี้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร 3.ตั้งเป้าหมายและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดศักยภาพและมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 4.แก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้ และ 5.บริหารความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในช่วงถัดไปมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออก โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัจจัยลบจากที่ทุกประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในฝั่งเอเชียมากขึ้น ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และกลุ่มโอเปกพลัสรร่วมกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มพลังงานในช่วงที่เหลือของปี ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า หากมูลค่าการส่งออกของไทยในแต่ละเดือนที่เหลือของปีอยู่ที่ระดับ 17,000-18,000 ล้านดอลลาร์ ก็คาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกจะหดตัวราว -5% แต่หากมูลค่าการส่งออกทำได้ดีกว่านี้ อัตราการติดลบก็จะน้อยลง "ตอนนี้ทั้งปีก็ติดลบมากกว่า 3% แล้ว ไตรมาสถัดไปยังไม่แน่ใจว่าจะได้ถึงเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์หรือไม่ ถ้าต่อเดือนทำได้ 17,000-18,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งปีก็น่าจะติดลบราว 5% แต่ถ้าทำได้ดีกว่านี้ ก็อาจจะติดลบน้อยลง" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ