ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ในลิงแสม เพศเมีย วัยเจริญพันธุ์ เข็มแรกในวันนี้ คาดว่าหลังการทดสอบฉีดเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันไวรัสได้แล้ว

(23 พ.ค. 2563) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้ทุนสนับสนุน ประสบความสำเร็จในระดับดีหลังทดสอบในหนูทดลอง

โดยนายสุวิทย์ เปิดเผยว่า การทดสอบในลิงจะฉีด 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิงใช้เทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน คือ ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA โดยในวันนี้ได้ฉีดครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อเวลา 07.39 น. ที่ผ่านมา ส่วนครั้งที่ 2 จะฉีดอีกครั้งใน 4 สัปดาห์ข้างหน้า และครั้งที่ 3 ก็ต้องนับต่อไปอีก 8 สัปดาห์ คาดว่าภายหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว

สำหรับการทดสอบในลิงนั้น เนื่องจากถือว่าลิงเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด โดยในการทดสอบจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน พร้อมตรวจสอบความตอบสนอง เช่นการสร้างภูมิคุ้มกัน ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ พิจารณาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน

"สำหรับเฟสที่ 1 ของการทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้นเฟสที่ 2 จะเพิ่มเป็นหลักร้อยถึงพันคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมาก โดยวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถใช้ได้ผลโดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าว

ขณะเดียวกัน เราได้มีการสั่งจองการผลิตวัคซีนกับโรงงานผลิต ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดในระดับมนุษยชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการพัฒนาวัคซีนของไทยคือให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำทั่วโลก โดยขณะนี้การทดลองวัคซีนส่วนใหญ่ในโลกนี้อยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือ การทดสอบในสัตว์ทดลอง มีเพียง 6-7 แบบที่ทดลองในคนในระยะที่ 1 แล้ว เช่น ของจีนและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น