รมว.แรงงาน ยัน ประกันสังคมมีงบฯจ่ายเยียวยา ยอมรับ ล่าช้าเสียเวลาตรวจสอบ เพราะระบบคอมฯเก่าไม่เชื่อมโยงกัน

(21 พ.ค. 2563) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการการจ่ายช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยยอมรับว่า การจ่ายเงินจะเป็นไปด้วยความล่าช้า สาเหตุจากจะต้องมีการตรวจสอบถึง 2 ทาง ทั้งในส่วนของประกันสังคม และผู้ประกอบการที่ต้องใช้คนดำเนินการ และยังพบปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีบางหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยแล้ว จึงทำให้เกิดความล่าช้าด้วยเหตุนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการทยอยจ่ายเงินเพื่อชดเชยตามลำดับ

ทั้งนี้ ยังพบว่าหากผู้ประกอบการเปิดดำเนินกิจการแล้ว จึงจะมีการแจ้งมายังประกันสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาภายใน 45 วัน ทางประกันสังคม จึงต้องกลับไปตรวจสอบอีก แต่ยืนยันว่า มีเงินในกองทุนประกันสังคมจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีมากถึง 62 ล้านคนอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้พบว่า มีผู้ประกันตนขอลงทะเบียนเพื่อชดเชยไว้เฉลี่ยวันละ 30,000 คน และอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่ รวมทั้งประเมินผลว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะผู้ประกอบการเปิดกิจการต่อไป โดยต้องจับตา 1-2 เดือนนี้ว่า เศรษฐกิจในประเทศจะเดินไปอย่างไร จะนิ่งหรือไม่ จึงจะต้องตรวจสอบข้อมูลจริงทั้งหมด ทั้งนี้ ทางประกันสังคมกำลังติดตามข้อมูลผู้ประกันตนและรายงานให้ตนเองได้ทราบทุกวัน

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน" ได้แจ้งรายละเอียดการสรุปศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันที่ 20 พ.ค. 63 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ประกันตนขอยื่นรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 สะสม 1,208,999 คน โดยผู้ประกันตันยื่นขอใช้สิทธิ์รายใหม่ (ข้อมูลยื่นใหม่ ณ วันที่ 19 พ.ค. 2563) จำนวน 33,036 คน ประกันสังคมวินิจฉัยสั่งจ่ายสะสม 1,063,068 คน รวมเป็นเงิน 5,829.855 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประกันสังคม ยังเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในวันและราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ จ.นนทบุรี รวมถึงสำนักงานประกันสังคมที่แต่ละจังหวัด