วันนี้เป็นวันที่ 2 ที่รัฐบาลแจกเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน 5 พันบาท ซึ่งจะมีผู้ได้รับเงินอีกกว่า 753,000 คน แต่ตลอด 2 วัน กลับมีดราม่าเกิดขึ้นอย่างหนัก เมื่อคนที่ได้เงินเยียวยา ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า เดือดร้อนไม่จริง !!

ที่เป็นกระแสดราม่าหนักสุด คงเป็นสาวประเภทสองอายุ 26 ปี กับวลีเด็ดที่โพสต์โซเชียล ว่า "5 พันเข้าบัญชีแล้วค่ะ ก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็น" และมีข้อความเสียดสีรัฐบาลถามว่าช่วยเหลือได้แค่นี้เหรอ! 

เมื่อชาวเน็ตเข้าไปดูชีวิตประจำวัน พบว่า โพสต์ไลฟ์สไตล์สวมใส่แบรนด์เนม แถมเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าในจังหวัดภูเก็ต 

ล่าสุดเจ้าตัว เข้าพบตำรวจ ยอมรับว่า แค่โพสต์ประชดเพราะหงุดหงิดแทนเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้รับเงิน และในกลุ่มเพื่อนๆ มีตนคนเดียวที่ได้เงินนี้ ทำให้มีแต่คนถามว่าทำอย่างไร จึงรู้สึกกดดัน โพสต์ไปไม่ยั้งคิด 

ยืนยันจริงๆแล้วก็ได้รับผลกระทบจริง เพราะต้องปิดร้านเสื้อผ้า แต่ยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ เพราะไม่มีประกันสังคม 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ไม่คิดว่าจะได้เงินจริง แค่กรอกข้อมูลลงทะเบียนเล่นๆ หรือข้อความ "ขอบคุณสำหรับเงินค่าทำโบท็อกซ์ ค่าทำหน้าอก" "ขอบคุณสำหรับเงินค่าหมูกะทะ จะได้ไปเลี้ยงฉลองกับแม่" 

ขณะที่คนที่เดือดร้อนจริงๆ อย่างนายสุทัศน์ จำปาหอม อายุ 60 ปี อาชีพขับรถสามล้อสกายแลปรับจ้าง มากว่า 30 ปี ต้องมายืนถือป้ายพร้อมข้อความตัดพ้อรัฐบาล ระบุว่า ตอบหน่อยสิ ผมผิดตรงไหน รายได้ไม่มี ภาษีก็เสีย สามล้ออย่างผม ทำไมคัดกรองไม่ผ่าน ตอบหน่อยซิ รัฐบาล ขาดรายได้มาเป็นเดือนแล้วจะให้กินอะไร เงินชดเชย 5,000 บาท ก็แห้ว 

ความผิดปกติเหล่านี้ สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชน ต่อวิธีการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ว่าใช้หลักเกณฑ์ใดกันแน่ 

เพราะกรณีนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อตอนบัตรสวัสดิการคนจน ที่เปิดให้คนลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็เหมือนกัน ตอนนั้นก็มีปัญหาว่า คนจนไม่ได้บัตรสวัสดิการคนจน แต่คนรวยใส่ทอง มีรถ กลับได้ 

ปัญหาที่แท้จริง อาจจะเกิดจากปัญหาระบบภาษีของไทย ทำให้ยังไม่สามารถแยกแยะ ประเภทบุคคลได้ว่า ใครมีสถานะทางการเงินอย่างไร 

ซึ่งกระทรวงการคลังระบุว่า เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบซ้ำ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า หากพบว่า มีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

จากการตรวจสอบนั้น แบ่งกลุ่มคนที่เข้าข่ายมีความผิด เป็น 2 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มที่ไม่ได้รับเงินแต่บอกว่าได้เงิน ถือว่า สร้างความสับสน จะมอบให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็น Fake News 

2.พวกที่ได้เงินแต่ใส่ข้อมูลที่เป็นเท็จ กรณีนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายรายที่ได้เงินแล้ว จะขอให้มีการคืนเงินทันที