จ่อเอาผิด พ.ร.บ.ผู้โพสต์ข้อความเท็จ พร้อมเรียกเงินคืนภายใน 90 วัน หากไม่เดือนร้อนจริง ระบุ ระยะเวลาเยียวยา 6 เดือน ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ เผยรัฐบาลเตรียมมาตรการอื่นเยียวยาเกษตรกร 17 ล้านคน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ว่า กระบวนการการคัดกรองยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อวานเป็นวันแรกที่เริ่มจ่ายเงินให้ผู้ผ่านเกณฑ์ ผู้ที่ยังไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนใช้เวลาคัดกรองแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ย้ำว่า หลักเกณฑ์ในการคัดกรองต้องต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

- ผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปี

- ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่น แม่บ้าน ถือว่าไม่ได้ประกอบอาชีพ และไม่ได้รับผลกระทบ

- ข้าราชการบำนาญ

- ผู้อยู่ในประกันสังคม

- เกษตร เนื่องจากมีมาตรการเฉพาะที่รองรับ

- นักเรียน/นักศึกษา

โดยกลุ่มคนเหล่านี้ หากมีการลงทะเบียนไปแล้ว จะมี SMS แจ้งเตือนว่า ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ด้วยเหตุผลอะไร

 ส่วนกลุ่มเป้าหมาย 8,000,000 คน ต้องมีการคัดกรองเพื่อค้นหาตัวให้เจอ และได้รับเงินเยียวยา คือ

1. ต้องอยู่ในกลุ่มเป้าหมายจริง ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริง

2.ประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้จริง

3. ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เช่น แผงขายของในตลาดถือว่าเป็นผู้ประกอบการพูดเล็กแต่หากเป็นเจ้าของตลาดจะไม่เข้าเกณฑ์และไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา

4. อาชีพอิสระบางอาชีพไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะไม่ได้รับเงินเยียวยา เช่น ค้าขายออนไลน์ ผู้ใช้แรงงาน(ก่อสร้าง) โปรแกรมเมอร์ เนื่องจากรัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการและยังสามาถรประกอบอาชีพได้

ส่วนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรซึ่ง ประเทศไทยมีเกษตรอยู่ ประมาณ 17 ล้านคน ขณะนี้ทางรัฐบาล กระทรวงการคลัง กำลังดำเนินการกำหนดแนวทางในการช่วยเหลืออยู่ "ขอให้เกษตรกรรออีกอึดใจเดียว หลังจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเกษตรโดยเฉพาะอย่างแน่นอน" ซึ่งมาตรการที่จะออกมานี้เป็นมาตรการที่เหมาะสมกับเกษตรกรโดยเฉพาะ

ส่วนประชาชนที่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนจริงอย่างกรณีที่มีการโพสต์ในโซเชียลซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการรับรายงานแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือหากไม่ได้รับเงินแต่มีการโพสต์เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดจะ การเรียกเงินคืนภายใน 90 วัน ซึ่งหากไม่ยินยอมจ่ายเงินคืนจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย และเอาผิดตาม พรบ.คอม

ส่วนถ้าได้รับเงินจำนวน 5,000 บาทจริง แต่ไม่ได้เดือดร้อนตามข้อมูลที่กรอกในระบบนั้น จะมีการเรียกเงินคืนและหยุดเยียวยาทันที เพื่อนำเงินดังกล่าวไปให้สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจริงเท่านั้น

 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ระบบ AI ที่ใช้ในการตรวจสอบและประมวลผลค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งในกรณีเหล่านี้จะมีการตรวจคัดกรองทั้งก่อนลงทะเบียนและหลังการได้รับเงินเยียวยาแล้ว

โฆษกกระทรวงการคลัง ยังได้ชี้แจง กรณีการจ่ายเงินเยียวยาในระยะยาว 6 เดือนว่า ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านและ เข้าหลักเกณฑ์จะได้รับเงินเยียวยา ในระยะ 3 เดือนอย่างแน่นอน แต่กรอบ 6 เดือนนั้น เป็นการบอกว่า รัฐบาลมีเงินที่เพียงพอในการช่วยเหลือประชาชนได้อีก 6 เดือน

ส่วนจะมีการจ่ายเยียวยาต่อหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้น และต้องพิจารณาว่า จะมีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร นำไปช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง โดยย้ำว่า รัฐบาลจะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ เมื่อ วานนี้ พบว่า มีประชาชนที่เข้าข่ายเดือดร้อนจำนวน 2 แสนคน ใส่เลขบัญชีไม่ถูกต้อง จึงฝากไปถึงประชาชนกลุ่มนี้ว่า จะมี SMS ส่งไปแจ้ง จึงขอให้รีบแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องทันที เพื่อรัฐจะได้โอนเงินเยียวยาไปให้ได้ถูกต้อง

พร้อมย้ำว่า ขณะนี้เว็บเราไม่ทิ้งกันยังไม่ปิดระบบรับลงทะเบียน หากใครมั่นใจว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบยังสามารถลงทะเบียน ได้โดยไม่ได้จำกัดจำนวนคน ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วและทราบว่า ตนเองเป็นผู้ไม่เข้าเกณฑ์สามารถยกเลิกการลงทะเบียนได้ หรือหากยังไม่แน่ใจ ขอรอให้ระบบเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งจะทยอยตรวจสอบตามลำดับ เนื่องจากความยากง่าย ของข้อมูลแต่ละคนไม่เท่ากัน