เผยผลตรวจชายชาวนราธิวาสเสียชีวิต บนขบวนรถไฟที่ทับสะแก ติดเชื้อโควิด -19 ทำพิธีฝังศพตามศาสนาอิสลามที่สุสานทับสะแก สั่งกักตัวผู้ใกล้ชิด

นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แถลงข่าวผู้ติดเชื้อโควิด–19 และเสียชีวิตบนขบวนรถไฟ กรณีนายอนันต์ สาเหาะ อายุ 57 ปี ชาวมุสลิมจังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตบนรถไฟขบวนรถด่วนที่ 37 บางซื่อ - สุไหงโก-ลก โบกี้ที่ 4 เมื่อเวลา 00.30 น. ของวันที่ 31 มีนาคม

หลังเดินทางกลับจากทำธุรกิจที่ประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 และเดินทางต่อที่สถานีรถไฟบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด

ระหว่างเดินทางถึงสถานีรถไฟหัวหิน มีอาการเป็นลม เมื่อสอบประวัติพบว่า เป็นโรคเบาหวาน กระทั่งนายสถานีมาพบอีกครั้ง ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงสถานีรถไฟทับสะแก จึงแจ้งโรงพยาบาลเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 30 มีนาคม

ทางทีมโรงพยาบาลทับสะแก ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่าง สารคัดหลั่งในโพรงจมูก ตรวจหาเชื้อโควิด–19 จากนั้นนำร่างของผู้เสียชีวิตใส่ถุงซิปล็อค 3 ชั้น ก่อนจะประสานภรรยาที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อดำเนินการต่อตามประกาศที่ท่านจุฬาราชมนตรีได้ประกาศว่าให้ดำเนินการป้องกันการติดเชื้อโควิดสำหรับผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่า ติดเชื้อ

ซึ่งทางญาติตัดสินใจประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม โดยนำร่างฝังที่สุสานอำเภอทับสะแก โดยขุดหลุมฝังลึก 2 เมตร โรยปูนขาวหนึ่งครั้ง ก่อนนำร่างมาไว้กลบหลุมแล้วโรยปูนขาวทับอีกชั้น แล้วจึงกลบด้วยดินสูง 2 เมตร เมื่อวานนี้

นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ส่วนผู้สัมผัสเชื้อ ซึ่งเป็นผู้โดยสารร่วมตู้รถไฟประมาณ 20 คน ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยคนที่ 13 ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกบนขบวนรถไฟนั้น

เริ่มปรากฎอาการป่วยที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ผู้โดยสารที่ทั้งหมดในตู้ จึงย้ายไปนั่งที่ตู้อื่นแทน ในตู้ดังกล่าวจึงเหลือผู้ป่วยในตู้เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ตรวจไม่พบว่า มีไข้ มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน

ซึ่งลักษณะดังกล่าว เป็นอาการภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และในการคัดกรองระหว่างเดินทาง ทั้งที่จุดราชบุรี เพชรบุรี ก็ไม่พบว่า มีไข้สูง จึงเดินทางต่อ โดยมาเป็นลมที่สถานีรถไฟหัวหิน และเสียชีวิตที่สถานีรถไฟทับสะแก เมื่อผลแล็ปยืนยันเชื้อออกมาแล้วว่า ติดเชื้อโควิด - 19 จึงได้ประสานจังหวัดปลายทาง ติดตามต่อผู้สัมผัสเชื้อต่อ

สำหรับผู้เสียชีวิตคนนี้ ถือเป็นผู้เสียชีวิตคนแรกของจังหวัด ที่ติดเชื้อโควิด–19 ขณะเดินทางบนขบวนรถไฟ ไม่ใช้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาขณะอยู่โรงพยาบาล โดยขั้นตอนการฝังศพดำเนินการตามมาตราการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทั้งหมด

ส่วนผู้สัมผัสศพนั้น มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำนวน 3 คน ที่สวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล PPE ซึ่งต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ส่วนอาสาสมัครกู้ภัยที่ทำการเก็บศพ จำนวน 4 คนนั้น เป็นผู้สัมผัสศพและมีความเสี่ยงสูง ต้องทำการกักตัว 14 วัน และในรอบ 5 วัน หากมีอาการไข้ ต้องส่งตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโควิด–19 ทันที

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประสานไปยังมูลนิธิกู้ภัยทุกแห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีมาตรการป้องกันในการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง เพื่อลดอันตรายในการติดเชื้อสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และอาจให้กู้ภัยทุกรายสวมเครื่องป้องกันอย่างมิดชิด

ขณะที่ผู้ป่วยสะสมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็น 14 คน รายล่าสุดเป็นชาวเบลเยี่ยม อายุ 58 ปี เดินทางมาจากประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยง ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่หัวหิน