จิตแพทย์เผยกระบวนการรักษา ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีจะมีทั้งการบำบัดด้วยยาและทางจิตใจพฤติกรรม ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหลักวิชาชีพ ก่อนที่จะให้กลับออกไปอยู่ในสังคม

แพทย์หญิง เบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกระบวนการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีว่าในกระบวนการบำบัดรักษา จะใช้การรักษาแบบผู้ป่วยใน รายละเอียดวิธีการขึ้นอยู่กับแต่ละเคส

แต่หลักๆจะใช้การบำบัดด้วยยา และบำบัดด้วยวิธีอื่น คือ บำบัดรักษาทางจิตใจ และพฤติกรรมบำบัด โดยต้องประชุมร่วมกันจากบุคลากรหลากหลายวิชาชีพ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นว่าจะให้อยู่รักษานานแค่ไหน ขั้นตอนการประชุมจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อรวบรวมความคิดเห็น และเมื่อผ่านการรักษาแล้ว ต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมที่มีบุคลากรหลากหลายวิชาชีพว่าจะให้กลับบ้านได้หรือไม่ ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีบางราย ต้องรักษาตลอดชีวิตในโรงพยาบาล หากพิจารณาว่าจะมีอันตรายหากปล่อยออกไป

เมื่อออกไปสู่สังคม ผู้ป่วยต้องทานยาสม่ำเสมอ พบแพทย์เป็นประจำ นอกจากนี้จะมีแพทย์ที่ตามไปดูแลที่บ้านต่อเนื่อง ส่วนระยะเวลาการบำบัดขึ้นอยู่กับการพิจารณาแต่ละกรณี

ส่วนกรณีของจิตรดา กำลังอยู่ระหว่างสืบสวน แต่เบื้องต้นทราบว่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาลไม่นาน และตอนออกไปอาการดีขึ้น ได้พิจารณาแล้วว่าอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ แต่ก็ต้องทานยาต่อเนื่อง

สำหรับ ประวัติการรักษาอาการป่วยจิตประเภทเรื้อรังของ นางสาว จิตรลดา

เริ่มเข้ารักษาครั้งแรก ปี 2536 ที่โรงพยาบาลนิติจิตเวช แต่ขาดการรักษาต่อเนื่อง
ต่อมาปี 2544 รักษา ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ขาดการรักษาต่อเนื่องเช่นกัน

กระทั่ง9 กันยายน 2548 บุกแทงนักเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ มีผู้บาดเจ็บ 4 คน ส่งตรวจที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 8 ปี ข้อหาพยายามฆ่า สารภาพลดโทษเหลือ 4 ปี ไม่รอลงอาญา หลังพ้นโทษรักษาต่อที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ จนหาย ศาลสั่งแพทย์รายงานอาการทุก 6 เดือน

วันที่ 1 สิงหาคม 2556 สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ปล่อยตัวให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน และมาก่อเหตุแทงเด็ก 5 ขวบ เสียชีวิต วันที่ 29 มีนาคม 2563

ประวัติการรักษาอาการป่วยจิตเภทเรื้อรัง "จิตรลดา"