ศาลปกครองแถลงผลการดำเนินงานครบรอบ ๑๙ ปี พร้อมนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบการบริหารจัดการข้อมูลคดี เพื่อมุ่งสู่การเป็นศาลอัจฉริยะ (Smart Admincourt)

วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๓ ศาลปกครอง โดย นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครองในรอบปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ให้สื่อมวลชนและสาธารณชนทราบ โดยมีประเด็นที่สำคัญจำแนกตามภารกิจ ดังนี้ ภารกิจด้านการพิจารณาพิพากษาคดี โดยสถิติคดีของศาลปกครองในภาพรวม ๑๙ ปี ที่ผ่านมา นับจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ ศาลปกครองรับคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้ว จำนวน ๑๖๒,๐๗๙ คดี เป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จำนวน ๑๑๔,๗๒๔ คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๔๗,๓๕๕ คดี โดยศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน ๑๓๕,๑๔๘ คดี คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๓๘ ของคดีรับเข้า นอกจากภารกิจด้านการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลปกครองยังได้มีการปรับปรุง พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ได้แก่

๑. การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีปกครอง เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณา คดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ การเพิ่มขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตามระเบียบของ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา และจนถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ศาลปกครองชั้นต้น มีคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน ๖๑ คดี สามารถไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ ๓๕ คดี

๒. การยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน โดยการเปิดใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นระบบ ที่รองรับการดำเนินการทางคดีตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น คือ การยื่นฟ้อง ไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาโดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ระบบนี้แล้ว จำนวน ๒๔๑ คน และมีคดีอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ศาลปกครอง รวมจำนวน ๔๑ คดี เป็นคดีของศาลปกครองกลาง จำนวน ๓๘ คดี ศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๑ คดี และศาลปกครองในภูมิภาค จำนวน ๒ คดี จากการพัฒนาและปรับปรุงหลายภาคส่วนของศาลปกครองในปีที่ผ่านมา ทำให้ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองของศาลปกครองประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยมีสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครอง ร้อยละ ๘๘.๐๕ และมีความพึงพอใจต่อคุณภาพการให้บริการของสำนักงานศาลปกครอง ร้อยละ ๙๗.๔๒

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของศาลปกครองในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ ในระดับสากล” โดยจะพัฒนาให้การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน มีความรวดเร็ว ส่งเสริมให้มีการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้ประชาชนและ ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สะดวก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีที่ประชาชนสนใจเพื่อแสดงความโปร่งใสด้วย

ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวต่ออีกว่า ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นปีที่ศาลปกครองจะเดินหน้าพัฒนาศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง อันเป็นการเข้าสู่ศาลปกครองอัจฉริยะ หรือ Smart Admincourt ต่อไป โดยได้กำหนดเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น ศาลปกครองกำลังเตรียมการเพื่อนำเข้าข้อมูลสารสนเทศจากคำฟ้อง คำให้การ และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในรูปแบบของข้อความ ภาพ และเสียง ทั้งจากกระดาษและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีแปลงเสียงเป็นข้อความ และแปลงภาพเป็นข้อความด้วยเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) เพื่อนำเข้าสู่ระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

ในระยะต่อมา จะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) มาช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสาร ในสำนวนคดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรการศาลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งพัฒนาระบบ AI ที่จะช่วยตุลาการในการสืบค้นกฎหมาย คำพิพากษา แนวคำวินิจฉัย ตามประเภทคดี ข้อเท็จจริงในคดี ประเด็นข้อพิพาท รวมถึงหลักกฎหมายปกครอง ซึ่งจะช่วยในการสร้างบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีของศาลปกครอง

ส่วนในระยะยาว จะมีระบบสารสนเทศที่ช่วยวิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และเอกสารหลักฐานด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาข้อมูลที่มีความสอดคล้องและขัดแย้งกัน รวมถึงช่วยตุลาการในการจัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ และเป้าหมายต่อไปของศาลปกครองคือการพัฒนาระบบช่วยร่างคำพิพากษาที่นำข้อมูลจากคำฟ้อง คำให้การ บันทึกคำพยาน และเอกสารหลักฐานมาประมวลและยกร่างคำพิพากษาเพื่อช่วยลดเวลาของตุลาการในการจัดทำ คำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ และระบบดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำพิพากษาในขั้นตอนสุดท้ายว่ามีการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ศาลปกครองอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และด้วยแนวโน้มของการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลกและในประเทศไทย ศาลปกครองจึงจะพัฒนา Mobile application ที่ประชาชนและคู่กรณีสามารถใช้ในการยื่นฟ้องคดี และดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และจะได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ หุ่นยนต์ให้บริการผ่าน Cloud computing มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อที่ศาลปกครอง ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบบเครือข่ายสัญญาณความเร็ว 5G ที่จะมารองรับให้การดำเนินการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศาลปกครองเป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดนโยบายการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาการให้บริการของศาลปกครองในมิติที่หลากหลาย โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลปกครองทั้งส่วนกลางและในภูมิภาคเสนอกิจกรรม “๑ หน่วยงาน ๑ โครงการ เพื่อประชาชน” ภายใต้โครงการ “ศาลปกครองของประชาชน” โดยขับเคลื่อนผ่าน ๓ กลุ่มกิจกรรมหลัก ได้แก่ การปรับปรุงการให้บริการประชาชนของสำนักงานศาลทั้งส่วนกลางและในภูมิภาค โดยจัดตั้ง “ศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ศาลปกครอง และคดีปกครองในรูปแบบที่ทันสมัยผ่านช่องทางและเครือข่ายต่างๆ และการสื่อสารข้อมูลการดำเนินงานสู่สาธารณะในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านสื่อออนไลน์และช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความโปร่งใสในการดำเนินงานและมีส่วนร่วมในการเสนอแนะการพัฒนางานของศาลปกครอง

รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศาลปกครองให้เป็น “องค์กรแห่งความสุข” โดยมุ่งสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของบุคลากร ทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ให้มีสุขภาวะทางกายและจิตที่ดี มีการจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อให้ผ่อนคลายจากการทำงาน ทำให้งานได้ผลและคนทำงานมีความสุข พร้อมทั้งมีการบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากร ผ่าน ๒ ช่องทาง ได้แก่ จัดให้มีห้อง “Happy Workplace” โดยมีนักจิตวิทยามาประจำการ ในวันพุธของเดือน เดือนละ ๒ ครั้ง และได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน และจัดคลินิกจิตเวชทางไกล ซึ่งจะเป็นการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิตผ่านระบบ Telepsychiatry ระหว่างสำนักงานศาลปกครองและโรงพยาบาลศรีธัญญา โดยผู้ให้บริการฯ จะเป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวช และได้เปิดให้บริการในสำนักงานศาลส่วนกลางแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และจะขยายการบริการไปยังบุคลากรของสำนักงานศาลในภูมิภาค เพื่อให้บุคลากรเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่เป้าหมายความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดยประธานศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการบริหารศาลปกครองจึงได้มีประกาศกำหนดมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่มาติดต่อขอรับบริการที่ศาลปกครอง โดยให้สำนักงานศาลทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ดำเนินการคัดกรองสุขภาพของประชาชนและบุคลากรของศาลปกครองที่เข้ามาในพื้นที่อาคารสำนักงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตหรืออนุมัติให้ข้าราชการศาลปกครอง พนักงานราชการ และลูกจ้างสำนักงานศาลปกครองไปต่างประเทศหรือเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือแวะผ่าน (Transit) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อสังคมส่วนรวม