รพ.ราชวิถี แจง ปัดรักษาคนไข้ ไม่ได้รักษาผิดจุด ชี้ ต้องรักษาจุดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตก่อน ผอ.รพ.ยืนยัน เคสสตั๊นแมนยังไม่วิกฤติ สามารถนอนพักฟื้นได้

สืบเนื่องจาก นาย เอกนรินทร์ ตุ้งกู วัย 33 ปี เป็นนักแสดงอิสระ (สตั้นแมน) มีอาการปวดหลังและไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่ปรากฎว่า แพทย์สั่งให้กลับบ้าน โดยให้เหตุผลว่า อาการไม่ได้ฉุกเฉินมากนัก อีกทั้งทางโรงพยาบาล มีบุคลากรในการรักษาไม่เพียงพอ และสิทธิในการรักษาของคนไข้ไม่ได้อยู่ที่นี่ จึงให้การรักษาไม่ได้

ล่าสุด ทางโรงพยาบาลราชวิถี ออกแถลงการณ์ กรณีดังกล่าวว่า ผู้ป่วยเข้ามาทำการรักษาอาการ จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 วันที่ 16 ตุลาคม ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง แพทย์ได้ ตรวจX-ray ผลปกติ จึงให้ยาบรรเทาอาอาการ และให้กลับบ้าน

ครั้งที่ 2 วันที่ 17 ตุลาคม ผู้ป่วยยังมีอาการปวดหลังเช่นเดิม แพทย์จึงตรวจรักษาเพิ่มเติม โดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยาฉีดบรรเทาอาการปวด ผู้ป่วยได้พักสังเกตอาการในห้องฉุกเฉิน เป็นเวลา 8 ชม. อาการปวดทุเลาลง และผลตรวจดีขึ้น แพทย์จึงให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน พร้อมนัดตรวจติดตามอาการต่อที่แผนกผู้ป่วยนอก ในวันที่ 21 ตุลาคม

ขณะเดียวกันทีมข่าวช่อง 8 ได้รับคำยืนยันจาก นายแพทย์ ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กรณีที่แพทย์อาจจะรักษาไม่ตรงจุดหรือไม่ เนื่องจากคนไข้มีอาการปวดหลัง แต่แพทย์ไปรักษาอาการน้ำตาลในเลือดสูง
ซึ่ง นายแพทย์ ไพโรจน์ บอกว่า หลังตรวจพบ คนไข้มีน้ำตาลในเลือดสูงถึง 482 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงทำให้ต้องรักษาในอาการจุดนี้ก่อน ส่วนอาการปวดหลังนั้น ต้องเป็นวิธีการพักฟื้น(ซึ่งกลับไปพักที่บ้านได้) และก็ให้ยาลดอาการปวด

ส่วนประเด็นการเก็บค่ารักษาพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลแจงว่า ในวันที่ 16 ตุลาคม คนไข้จ่ายมาจำนวนเงิน 100 กว่าบาท ส่วนที่เหลือค้างชำระ แต่เมื่อมารักษาอาการอีกในวันที่ 17 ตุลาคม ทางโรงพยาบาลไม่ได้ทักท้วงให้ชำระแต่อย่างใด ก็รักษาอาการให้อย่างเต็มที่

ขณะที่ทีมข่าว โทรศัพท์ไปสอบถาม การย้ายสิทธิในการรักษาของ นายเอกนรินทร์ (จากเดิมที่มีสิทธิอยู่ใน รพ.แห่งหนึ่งของ จ.ภูเก็ต ทำให้ไม่สามารถมารักษาที่ รพ.ในกรุงเทพได้) ก็ทราบว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข แจ้งทำเรื่องย้ายสิทธิให้แล้วแบบเร่งด่วน โดยจะมีผลการย้ายในวันที่ 28 ต.ค.นี้

รพ.แจงไม่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ