การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ เป็นการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภา โดยส.ส.ฝากฝั่งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ ต่างลุกขึ้นอภิปรายเรื่องการแต่งกายของ ส.ส. โต้กันไปมาอย่างดุเดือด ขณะที่ "นายชวน หลีกภัย" วอนสมาชิกให้ความสำคัญร่างข้อบังคับอื่นมากกว่าเรื่องการแต่งกาย ระบุ 87 ปีที่มีสภา ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรก  สมาชิกส่วนใหญ่ พุ่งเป้าลุกขึ้นอภิปรายเรื่องการแต่งกายของ ส.ส.เป็นอันดับแรก

โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นอภิปรายว่า อดทนมาหลายอาทิตย์ กับการแต่งกายของ ส.ส.บางคน แต่ที่ติดใจมาก คือการแต่งกายของ ส.ส.ชาย พรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนไม่ให้เกียรติสถานที่ บางคนใส่เสื้อโปโล แล้วใส่สูททับ ไม่ผูกเนคไท ถือว่า ไม่เหมาะสมอย่างมาก

ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาด ส.ส.พิษณุโลก พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นชี้แจง ว่า ตนเองคือคน ที่ไม่ใส่เนคไท มาประชุม เพราะมองว่า ไม่ใช่ประเด็น ที่จะชี้วัดคุณค่าของ ส.ส.

จากนั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า รัฐสภา ไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งกายมากขนาดนี้ ซึ่งเรื่องการแต่งกายเกิดจากสำนึก รากเง้า และการอบรมสั่งสอนมาจากที่บ้าน ซึ่งการแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเคารพสถานที่ รู้จักกาละเทศะ

โดยเห็นว่า รัฐสภาไม่ใช่สถานที่ ที่จะมาหมุนตัวเล่น ๆ ที่จะมาอวดชุดกัน จึงขอให้ประธานสภาให้ความรู้กับสมาชิกด้วย

ทำให้ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลุกประท้วง ระบุว่า เรื่องการแต่งกาย คงไม่เท่ากับการเอาลูกมาเลี้ยงในสภา แต่ทุกสิ่งที่ น.ส.ปารีณา อภิปรายนั้น เป็นการเสียดสีรากเง้า

การอภิปรายเรื่องการแต่งกายเริ่มบานปลายมากขึ้น จนในที่สุด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ต้องห้ามปรามและให้หยุดอภิปรายเรื่องนี้ เพราะการแต่งกาย ไม่ได้สำคัญที่สุดในข้อบังคับการประชุม​ และที่ผ่านมามี ส.ส.หลายคน มาขออนุโลมเรื่องการแต่งกาย เช่น ส.ส.ที่ใช้ขาเทียม ได้ขออนุโลม ใส่กางเกงขาสั้น เพราะหากใส่ขายาวนั่งลำบาก

 ทั้งนี้ นายชวนยังกล่าวว่า 87 ปี ที่ผ่านมา สภาไม่เคยมีปัญหาเรื่องการแต่งกาย และในข้อบังคับ ก็ระบุชัดเจนว่า ให้ใส่ชุดสากลมาประชุม และมีข้อหนึ่ง ที่เปิดให้ประธาน สามารถกำหนดให้ ส.ส.แต่งกายแบบอื่นมาประชุมได้ แต่คงต้องมาคุยกันว่า จะแบ่งวัน ใส่อย่างไร

อีกหนึ่งประเด็นที่สมาชิกลุกขึ้นอภิปรายกันมาก คือการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ โดยอยากให้ตั้งโฆษก​ ประจำตัวประธาน เพื่อไม่ให้เกิดการให้สัมภาษ​ณ์ ที่กระทบ หรือ เหน็บแนม​ กับสมาชิก

 เรื่องนี้ทำให้ นายชวน ชี้แจงว่า แม้ยังไม่ได้ตั้งโฆษกประจำตัว แต่มีคณะทำงาน ซึ่งเรื่องใดที่กระทบต่อประธาน ต้องมีการชี้แจงอย่างเช่นที่จะมีสมาชิกฟ้องร้องตามมาตรา 157 เป็นต้น