สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ เริ่มมีอาการเหนื่อยล้า หลังต้องช่วยกันดูแล และอนุบาลลูกพะยูนน้อย "มาเรียม" อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนเวรทุก 1 สัปดาห์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พัก

สัตวแพทย์หญิงชวัญญา เจียกวธัญญู สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวถึงการดูและอนุบาล ลูกพะยูนน้อย "มาเรียม" ว่า ขณะนี้ มีการจัดเวร ในการดูแลอนุบาล"มาเรียม" ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีการเปลี่ยนเวรทุก 1 สัปดาห์ โดยแต่ละทีม ประกอบด้วยสัตวแพทย์ 1 คน และนักวิชาการ 1 คน เป็นอย่างน้อย

ดังนั้น ในการเปลี่ยนเวร ทางศูนย์วิจัยฯ จะมีการขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยฯ จังหวัดอื่น ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีทั้งหมด 5 ศูนย์ มาช่วยเหลือบ้าง เนื่องจากทีมสัตวแพทย์ศูนย์ภูเก็ต เริ่มมีอาการเหนื่อยล้า ซึ่งขณะนี้ทุกศูนย์ ได้ช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ มีความคุ้นชินกับ"มาเรียม"แล้ว

ส่วนการดูแล "มาเรียม" เชื่อว่า เจ้าหน้าที่จะต้องดูแลต่อไป อีกอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนขึ้นไป เพราะอยู่ในช่วงที่ยังไม่หย่านม หรือจนกว่าที่"มาเรียม" จะหย่านมแล้วหากินเองได้

ทั้งน ี้ทีมสัตวแพทย์ จะดูแลสุขภาพ"มาเรียม" อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการวัดคลื่นหัวใจ การหายใจ และกระเพาะอาหารว่า มีอาการท้องอืดหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจอุจจาระและปัสสาวะ โดยทางทีมสัตวแพทย์จะพิจารณาไปตามพฤติกรรม

ทีมสัตวแพทย์ทำงานอย่างหนักดูแลอนุบาล "มาเรียม"