"ธนาธร" ลุยต่อ งานนอกสภา บุก "ระนอง" รับฟังปัญหาประมง -ที่ดิน- สัมปทานเหมือง ลั่นพร้อมผลักดันให้ ส.ส. แก้ไขผ่านสภา

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีรับฟังปัญหาของชาวประมงในพื้นที่ ที่สมาคมประมงจังหวัดระนอง จ.ระนอง ในฐานะผู้แทนราษฎรนอกสภาครั้งที่ 2 ทั้งนี้ มีตัวแทนชาวประมง ผู้ประกอบการประมง สมาคมประมง และชาวประมาร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตัวแทนผู้ประกอบการส่วนหนึ่งสะท้อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหลักๆ มี 3 ด้านที่อยากให้ช่วยแก้ปัญหา คือ 1. ปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย 2. ปัญหาเรื่องแรงงาน และ 3.ความซับซ้อนทางด้านเอกสารในการประกอบอาชีพประมงพาณิชย์

นายธนาธร เปิดเผยว่าจากการเดินทางมารับฟังปัญหาเรื่องประมงมาหลายพื้นที่จะมีปัญหาคล้ายๆกันคือ ความซับซ้อนของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องประมง เรื่องการบังคับใช้กฎหมายประมง ปี 2558 ที่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวประมงมีทางเลือกและปรับตัวในการประกอบอาชีพ ทำให้เรือที่ผิดกฎไม่สามารถออกเรือได้ และขั้นตอนในการจ้างแรงงานข้ามชาติมีขั้นตอนที่ซับซ้อน สำหรับนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่ คือ 1.ต้องแก้ พรบ.การประมง 2558 และ พรก.การประมง 2560 2.ต้องเอาทหารออกจากทำให้การแก้ปัญหาเรื่องประมงเพราะเป็นเรื่องของพลเรือน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยผ่านตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้ามารับฟังข้อคิดเห็นเพื่อเสนอผ่านสภา

สำหรับ บรยากาศในการรับฟังปัญหา นายธนาธรได้กล่าวเชิญชวนผู้ที่มีความรู้มาร่วมกันเสนอความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการรับฟังปัญหาจากรอบด้าน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังตลาดภูมิชนก เพื่อร่วมพูดคุยในวงเสวนารับฟังปัญหาในพื้นที่ จ.ระนอง ทั้งนี้มีตัวแทนจากกลุ่มปัญหามานำเสนอปัญหา ได้แก่ ปัญหาเรื่องประมงพื้นบ้าน ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาการสัมปทานเหมืองหินที่ชุมชนในวง อ.ละอุ่น โดยตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้กล่าวถึงปัญหาของประมงพื้นบ้านว่า บางส่วนเป็นคนไทยพลัดถิ่น ไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและไม่สามารถจัดตั้งหรือรวมกลุ่มได้ และความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ที่ประมงพื้นบ้านอยู่ในภาวะเสียเปรียบทางเครื่องมือ บางครั้งการลากอวนของเรือใหญ่ทำให้เครื่องจับปลาของชาวบ้านเสียหาย และชาวประมงพื้นบ้านส่วนมากไม่รู้กฎหมาย และทางตัวแทนของกลุ่มประมงพื้นบ้านอยากทราบถึงความชัดเจนทางด้านนโยบายของทางพรรคอนาคตใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ปัญหาที่ดินทำกิน ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า พรบ.ประกาศเขตป่าสงวน โดยไม่มีการกันพื้นที่ให้ชาวบ้าน และจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อ ปี 2557 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำเอกสารที่ดินไปทำธุรกรรมและกู้เงินได้ และไม่ได้รับสิทธิการสนับสนุนจากรัฐ และปัญหาเรื่องการทำเหมืองหิน ที่บริษัทเอกชนได้ทำการขอสัมปทานบัตรเพื่อทำโรงโม่หินในชุมชนในวง อ.ละอุ่น ตัวแทนชาวบ้านได้เล่าถึงปัญหาและข้อกังวลที่จะเกิดขึ้น คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นหากมีการระเบิดภูเขาและส่งผลกระทบต่ออาชีพหลักของคนในชุมชนที่ทำสวนทุเรียนและมังคุดส่งออก ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับชุมชนกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งรวมไปถึงแหล่งสถานที่สำคัญทางโบราญคดีจะเสียหายด้วย

ภาย หลังการรับฟังความคิดเห็น นายธนาธร กล่าวกับตัวแทนชาวบ้านในวงเสวนาถึงแนวทางการแก้ปัญหาคือ ด้านประมง จะต้องแก้ไขพระราชกำหนดประมง ปี 2560 โดยคำนึงถึงหลัก 3 ข้อ คือ 1.ต้องรักษาความสมบูรณ์ในทะเล 2.คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง เช่น เรื่องการใช้เครื่องมือของเรือประมงพาณิชย์ 3.เรื่องสิทธิแรงงานต้องได้รับการปกป้อง และการแก้ปัญหาเรื่องประมงจะต้องมีการคุยร่วมกันระหว่างประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่งและประมงพาณิชย์ ในส่วนของปัญหาที่ดินทำกิน และเรื่องสัมปทานเหมืองหิน จะต้องจัดการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและจัดการปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสกำหนดทิศทางหรือเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยทางพรรคอนาคตใหม่จะพยายามพลักดันเรื่องนี้ผ่านสภาโดยให้ ส.ส.ลงพื้นที่มารับฟังปัญหา