บอร์ด รฟท. เตรียมประชุมวันที่ 26 เม.ย.นี้ เพื่อหาแนวทางผ่อนชำระหนี้บริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท และเตรียมเสนอรายงาน ครม. ให้รับทราบแผนดำเนินการในวันนี้ (24 เม.ย.)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาทว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน

เพราะต้องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธานประชุมในวันที่ 26 เม.ย.นี้ก่อน โดยบอร์ดจะพิจารณาผลจากคำพิพากษา และแนวทางที่รฟท.จะดำเนินการหลังจากนี้ เนื่องจาก คำสั่งศาลให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จึงให้เร่งสรุปรายงานกระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในวันนี้ (24 เม.ย.)

นายอาคม กล่าวว่า รฟท.จะต้องดูฐานะการเงินด้วยว่ามีขีดความสามารถชำระได้แค่ไหน ซึ่งแนวทาง อาจจะต้องขอเจรจาเพื่อผ่อนชำระ

ทั้งนี้ โครงการโฮปเวลล์เป็นนโยบายของรัฐบาล เมื่อมีคำพิพากษาออกมา รฟท.สามารถเสนอขอให้รัฐช่วยเหลือค่าชดเชยด้วยก็ได้ แต่ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนโครงการต่าง ๆ ของ รฟท. ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา และจราจร เขียนข้อความผ่านเฟสบุ๊ก "เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ”

โดยได้สะท้อนความเป็นมาของโครงการ ที่โฮปเวลล์ไม่สามารถสร้างได้ทัน และข้ออ้างเรื่องการเวนคืนที่ดินล่าช้า จนถูกบอกเลิกสัญญา แต่มีการฟ้องร้อง โดยมีอนุญาโตตุลาการเข้ามาดูข้อพิพาท

ซึ่งการพิพากษาโดยศาลปกครองไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองชั้นต้น หรือ ศาลปกครองสูงสุด เป็นการพิจารณาว่า กระบวนการทำงานของอนุญาโตตุลาการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ได้ดูเนื้อหารายละเอียดว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ศาลปกครองตรวจสอบลึกถึงคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

จึงเสนอแนะให้ระบุในสัญญาโครงการในอนาคตไว้ว่า กรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้นำข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อจะทำให้การไต่สวนได้ข้อเท็จจริงที่แท้จริงว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา การทำเช่นนี้มีข้อดี คือ การพิพากษาคดีทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ประหยัดดอกเบี้ยเนื่องจากคดีสิ้นสุดได้เร็วกว่า และทำให้ได้คำพิพากษาที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งหากสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนยังคงเป็นสัญญาใช้ “อนุญาโตตุลาการ” เข้ามาดูข้อพิพาท ในอนาคตเราจะต้องเสีย “ค่าโง่”จากอีกหลายโครงการ

สำหรับโครงการนี้เกิดขึ้นมาในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน ที่มี นายมนตรี พงษ์พานิช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และถูกวิจารณ์ว่ามีความไม่โปร่งใส

หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย และผ่านมาอีกหลายรัฐบาลโครงการนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า เพราะมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน และงบประมาณของบริษัทโฮปเวลล์ จนสุดท้ายต้องยกเลิกโครงการในสมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมัยนั้น มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทำให้ ร้อยตำรวจเอก วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาจากเหตุที่ทำให้ต้องเสียค่าปรับดังกล่าวแล้ว การจะให้คมนาคมและรฟท. ต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้นเป็นการเหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ เพราะนายสุเทพ เป็นผู้สั่งการบอกเลิกสัญญา ทำให้ประเทศไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าหากนายสุเทพ ได้ศึกษาสัญญาให้ถี่ถ้วนก่อน จะทำให้ทราบและพิจารณาได้ว่า เป็นการสมควรหรือไม่ที่รัฐบาลในสมัยนั้นจะบอกยกเลิกสัญญา เพราะนอกจากจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินแล้ว ยังต้องสูญเสียการพัฒนาประเทศ และเสียเวลาในการแก้ไขปัญหารถติดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี