กองทัพภาคที่ 3 ออกมาชี้แจงยืนยันเปิดประมูลโครงการโปร่งใส ตามขั้นตอน ไม่มีการล็อกผลให้ลูก 2 คนของพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ได้โครงการประมูล ด้าน"เพื่อไทย"จี้หน่วยงานรัฐตรวจสอบ หลังบริษัทลูกชาย "พลเอกปรีช" ได้งานประมูล ทั้งที่หลังตั้งบริษัทได้เพียง 8 เดือน

จากกรณีที่ นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชายคนเล็กพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และน้องชายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท พี-ไรท์แอนด์บริส จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว(2561) เข้าร่วมประมูลงานโครงการก่อสร้างอาคารกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 14 กองทัพภาคที่ 3

และชนะการประกวดราคาร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มีนายปฐมพล จันทร์โอชา พี่ชาย เป็นเจ้าของนั้น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า เพราะเป็นหลานของพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ ทำให้ได้โครงการดังกล่าว

ทันทีข่าวนี้ออกมา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เข้าไปตรวจสอบทันที ทั้งในมิติการจัดสรรงบประมาณของกองทัพ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ทำให้รัฐต้องเสียหายหรือไม่

พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า กรณีนี้อาจจะไม่ใช่ครั้งแรก อาจจะโครงการอื่นๆอีกหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงองค์กรอิสระจะต้องเข้าไปตรวจสอบ อย่าให้เป็นลักษณะสารฟอกขาว หรือ ลูบหน้าปะจมูก เพราะประชาชนและสังคมรอคำตอบอยู่

แต่ถ้าคำตอบออกมาไม่สอดรับกับข้อเท็จจริง ก็อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งองค์กรที่ตรวจสอบรวมถึงกองทัพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะสุญญากาศ ซึ่งยังไม่มีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่กลับมีกลุ่มคนรับงานในลักษณะที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

"กองทัพภาคที่ 3" ยันไม่ได้ล็อกโครงการให้ "หลานชายนายกฯ"

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพภาคที่ 3 ชี้แจงโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า การประมูลโครงการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ไม่ได้ยึดติดว่า ผู้ประมูลเป็นนามสกุลดัง หรือ เป็นลูกหลานอดีตนายทหารระดับสูง

เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครรู้ว่า ใครชนะ เพราะคนที่รู้คือ กรมบัญชีกลาง ซึ่งการเสนอราคาปัจจุบันเป็นแบบอีบิดดิ้ง หรือ การประกวดราคาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ใครให้ราคาต่ำกว่าคู่แข่งก็ได้โครงการไป

ยืนยันว่า กองทัพภาคที่ 3 ไม่ได้เรียกรับผลประโยชน์ หรือ ให้อภิสิทธิ์ ใครเป็นพิเศษ เพราะใครจะมาประมูลก็ได้ โดยกองทัพไม่ได้จำกัด ญาติ หรือ ลูกหลานของนายทหารว่า ห้ามร่วมประมูล เพราะทหารไม่ใช่นักการเมือง และคงไม่มีใครกล้าทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าทำผิดจริงก็ต้องถูกตรวจสอบ ดำเนินคดี และอาจติดคุกได้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง

ส่วนตัวเข้าใจว่า สาเหตุที่ถูกวิจารณ์เพราะคนที่ประมูลโครงการได้เป็นหลานของพลเอก ประยุทธ์ ทั้งที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 3 เปิดประมูลโครงการจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีคนสนใจ เพราะบริษัทที่ชนะประมูล ไม่ได้มีคนที่เกี่ยวข้องกับทหาร

สำหรับการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ อนุมัติให้ใช้ แทน e-auction เพื่อช่วยป้องกันการ “ฮั้ว” ของเจ้าหน้าที่และผู้เข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ เพื่อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชนะการประมูลได้

เนื่องจากการใช้วิธีประมูลแบบ e-auction มีช่องโหว่ คือ ใครจะเข้าประมูลก็เดินทางไปที่สถานที่ที่ทางราชการกำหนด นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ กดตัวเลขราคาประมูล แต่พบว่า ก่อนจะไปนั่งเคาะราคาหน้าจอ ผู้เข้าร่วมประมูลมีการ“ฮั้วราคา” กันมาเรียบร้อยแล้ว

ส่วน E-bidding จะป้องกันไม่ให้ผู้ประมูลรู้ล่วงหน้าว่ามีใครมาซื้อซองบ้าง คือ เมื่อหน่วยราชการประกาศทางอินเทอร์เน็ทว่าจะจัดซื้อจัดจ้างอะไร ใครสนใจเข้าร่วมแข่งขันก็ให้ไปที่ธนาคารใกล้บ้าน จ่ายเงินค่าซองประมูล ระบบจะตอบรับกลับมาว่าผู้ซื้อซองมีคุณสมบัติครบจะเข้าประมูลหรือไม่อย่างไร และหากอนุมัติก็จะมีรหัสเฉพาะราย

เมื่อได้รหัสมาแล้ว ผู้ประมูลก็สามารถไป download ข้อมูลของการประมูลนั้น ๆ การยื่นประมูลก็สามารถทำได้ทางอินเทอร์เน็ท ทำให้ผู้ประมูลทุกคนได้ข้อมูลจากภาครัฐเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนในอดีตที่มีความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้เข้าประมูล โดยที่ข้อมูลจะวิ่งไปที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งหากใครให้ราคาต่ำกว่าคู่แข่งก็ได้โครงการไป

"เพื่อไทย" จี้หน่วยงานรัฐสอบลูกชาย "พล.อ.ปรีชา" คว้างานประมูลกองทัพภาคที่ 3