ประเด็นร้อนที่ต้องจับตามอง ก็คือการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพุธที่ 24 เมษายนนี้ว่า ศาลฯจะรับ หรือ ไม่รับคำร้องจากกกต.ที่ขอให้ศาลพิจารณาปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่นักวิชาการมองว่า เงื่อนไข ปัจจัยต่างๆ ทางการเมือง เปิดโอกาสให้เกิด "รัฐบาลแห่งชาติ"

24 เมษายนนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมวินิจฉัย ว่าควรรับ หรือ ไม่รับ คำร้องขอให้ศาลฯพิจารณาปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของคณกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ที่มีแนวทางต่างกัน คือ สูตรของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่ยึดหลักทุกคะแนนมีความหมาย การคำนวณจะสามารถจัดสรร ส.ส.ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีคะแนน แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.ที่พึงมี 1 ตำแหน่งก็ตาม

แต่สูตรของกรธ.ถูกฝ่ายการเมือง และนักวิชาการแย้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่ต้องจัดสรรให้พรรคการเมืองไม่เกินจำนวน ส.ส.ที่พึงมี หมายความว่าพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 คน ไม่ควรได้รับการจัดสรร ส.ส.

สำหรับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญกัน ในวันพุธนี้ เป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ
1 ไม่รับคำร้อง กกต.วินิจฉัย เนื่องจากถือเป็นอำนาจของ กกต.ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หรือปัญหาด้านอำนาจหน้าที่ของ กกต.ยังไม่เกิดขึ้น

2 รับคำร้อง และวินิจฉัยในแนวทางที่ กกต.ให้เหตุผล คือรับรองผลการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือทุกคนแนนมีความหมาย

3 รับคำร้อง วินิจฉัยว่าแนวทางของ กกต.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถจัดสรร ส.ส.ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.ที่พึงมี

4 รับคำร้อง แต่ไม่วินิจฉัยลึกลงไปถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.ให้ถือเป็นอำนาจ กกต.ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

น่าสนใจว่าหากแนวทางศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องของ กกต.ตามเหตุผลข้อที่ 1 คือ เห็นว่าเป็นอำนาจของ กกต. ดังนั้นจะต้องโยนกลับไปให้ กกต.พิจารณา เพราะจะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งแนวโน้มเป็นไปได้ว่า กกต.จะประกาศตามสูตรที่คิดไว้ คือให้ทุกคะแนนมีความหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีพรรคการเมืองได้ ส.ส.ถึง 27 พรรค

 "นักวิชาการ" ชี้เงื่อนไขการเมือง เปิดช่องเกิด "รัฐบาลแห่งชาติ" 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าหากศาลไม่รับคำร้อง และ กกต.ใช้สูตรนี้ทำให้การจับขั้วทางการเมือง ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ จะกุมความได้เปรียบในการตั้งรัฐบาล

เพราะหากสามารถรวมเสียงทุกพรรค ที่ไม่ไปร่วมลงสัตยาบันกับฝั่งพรรคเพื่อไทย ก็จะมีเสียงมากกว่า 250 ที่นั่ง แต่สิ่งที่จะตามมา คือ อาจจะมีพรรคการเมือง หรือผู้ได้รับผลกระทบ ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งการพิจารณาในขั้นตอนนี้หากศาลรับไว้พิจารณา และวินิจฉัยออกมาอีกแนวทางหนึ่ง

คือการประกาศของ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันที เพราะรัฐบาลที่ตั้งได้แล้วจะกลับมาเป็นเสียงข้างน้อย เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กจะถูกตัดสิทธิ์ความเป็น ส.ส. ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ รวมถึงผลผูกพันจากหลายสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปอาจจะมีปัญหาตามมา รวมถึงการร้องเรียนว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็จะตามมาด้วย

แต่หากศาลรับคำร้อง แล้ววินิจฉัยออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะถือเป็นบรรทัดฐาน ที่ต้องรอดูท่าทีของ กกต.ว่าจะจัดสรร ส.ส.ออกมาในรูปแบบใด แต่เชื่อว่าการเมืองจะยังไม่นิ่ง และมีเสียงวิจารณ์ตามมา ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ หาก กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ในกรอบเวลา 150 วัน ที่ยังมีปัญหาการตีความ ว่าต้องประกาศก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม หรือ ประมาณวันที่ 24 พฤษภาคม อาจจะมีการร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

อย่างไรก็ตามทิศทางการเมืองไทยหลังจากนี้ อ.ยุทธพรมองว่า ยังมีโอกาสเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลที่ ที่มาจากการหาทางออกร่วมกันของฝ่ายการเมืองอยู่ หากกรณีการเมืองถึงทางตัน เพื่อไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

 "นพดล"ไม่กังวลใจตั้ง"รัฐบาลแห่งชาติ" 

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายยุทธพร เป็นนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง ความเห็นต่างๆถือว่าออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทุกฝ่ายควรรับฟัง แต่ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ การตั้งรัฐบาลตามวิถีทางระบบรัฐสภายังทำได้อยู่

ส่วนความชัดเจนคงต้องรอ กกต.ประกาศรับรองจำนวน ส.ส.เสียก่อน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กังวลใจต่อประเด็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่กังวลเรื่องวาระแห่งชาติมากกว่า อาทิ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง การเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้

 "เทพไท" ยัน "รัฐบาลปรองดอง" ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีข้อเสนอตั้งรัฐบาลปรองดองว่า ของหลายตั้งคำามว่า การเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดองขัด อาจต่อรัฐธรรมนูญ

จึงขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง การตั้งรัฐบาลปรองดองคือการตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพียงแต่ชื่อที่เรียก ไม่มีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

นายเทพไท ระบุว่า การเสนอตั้งรัฐบาลปรองดองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพียงแต่เป็นข้อเสนอที่ต้องการให้เป็นทางเลือกของ 2 ขั้วการเมืองที่กำลังห้ำหั่นเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล

ในอดีต หลังการเลือกตั้งเพียง 1 วัน ก็สามารถฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ครั้งนี้ผ่านมาเกือบ 1 เดือน แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ยังชิงไหวชิงพริบ เกทับบลัฟแหลกเป็นรายวัน ปั้นตัวเลขจำนวน ส.ส.ที่สนับสนุนฝ่ายตน เพื่อหวังผลด้านจิตวิทยากัน ปล่อยข่าวเรื่องยุบพรรค การให้ใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง และงูเห่า นับว่าไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศ มีแต่การบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศลงไปเรื่อยๆ

 กกต.เรียก "ศรีสุวรรณ" ให้ถ้อยคำยุบรปช.

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน นี้จะเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมคำต่อ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน สำนักงานกกต. กรณีร้องเรียนให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

โดยยื่นหลักฐานข้อความที่ นางเบญญา นันทขว้าง ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรค รปช. โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “ถ้าฝ่าย ปชต.กงเต๊กชนะเลือกตั้ง ที่สุดก็จะปฏิวัติอีกรอบ” และกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ปราศรัยขู่ว่า “ถ้าเลือกพรรคตระกูลเพื่อ...เจอกันราชดำเนิน”

"ยุทธพร" เชื่อเป็นไปได้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หากการเมืองถึงทางตัน