สภาวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบแฟลตดินแดง เบื้องต้นคาดว่า รื้อถอนผิดขั้นตอน อยู่ระหว่าง รวบรวมหลักฐาน ตั้งกรรมการสอบวิศวกรคุมงาน หากพบความผิด โทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตวิศวกร

นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดง และ ตำรวจ สน.ดินแดงเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคาร อาคารเคหะชุมชน หรือ แฟลตดินแดง ที่เกิดเหตุถล่มลงมาระหว่างการรื้อถอน เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

นายอมร บอกว่า จากการตรวจสอบ พบว่า อาคารดังกล่าว เข้าหลักวิศวกรรมควบคุม ต้องมีวิศวกรดูแล ตามกฎหมายประกอบ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิศวกร และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร การรื้อถอน ต้องปฏิบัติไปตามหลักวิศวกรรม

ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น ได้ตั้งประเด็นไว้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีวิศวกรเข้ามาควบคุมในการรื้อถอนหรือไม่ และมีการออกแบบขั้นตอนการรื้อถอน ถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีวิศวกรแล้ววิศวกร ได้ปฏิบัติตามหลักการหรือไม่

กรณีแรก หากตรวจสอบพบว่า ไม่มีวิศวกรเข้ามากำกับดูแลจะเรียกว่า เป็นการทำผิดตามหลักพ.ร.บ.วิศวกร

หากมีวิศวกร แล้วไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถตามหลัก วิศวกร จะถูกดำเนินการทางจรรยาบรรณ อาจมีโทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาต โดยต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและเชิญตัววิศวกรที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำ

แต่ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่าง รวบรวมเอกสาร จาก 3 หน่วยงานได้แก่ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานเขตดินแดง และตำรวจ สน.ดินแดง เพื่อตรวจสอบว่า วิศวกรที่เกี่ยวข้องคือใคร ก่อนเชิญมาไต่สวน

คาดว่า จะเริ่มไต่สวนได้ ภายใน 2 สัปดาห์ หากพบความผิดพลาดชัดเจน จะนำไปสู่การลงโทษ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงสรุปและนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดได้

สำหรับขั้นตอนการรื้อถอน จะต่างจากการก่อสร้าง ที่จะเริ่มจากฐานรากขึ้นข้างบน แต่การรื้อถอน ต้องทำตรงข้าม เริ่มทำลายจากเปลือกนอก หรือ ผนัง ทีละชั้น จากบนลงล่าง จนเหลือเสาคานเนื้อใน

หากทำลัดขั้นตอน ก็อาจเป็นเหตุให้พังถล่มได้ ทั้งนี้ การพังถล่มตามปกติต้องในลงแนวดิ่ง แต่หากผิดหลัก จะออกด้านข้าง หรือนอกแนวกั้น

สภาวิศวกร เร่งรวบรวมหลักฐาน จ่อเอาผิดวิศวกรรื้อถอนแฟลตดินแดงถล่ม