อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เตือนประชาชน ช่วงนี้ ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพราะยังมีค่าเกินมาตรฐาน

ฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ถนนเส้นพหลโยธิน หน้าสวนจตุจักร เพื่อสอบถามพูดคุยกับประชาชน พร้อมตรวจสอบปริมาณฝุ่นละออง หลังจากกรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า วันที่ 19-21 มกราคม สถานการณ์ฝุ่นละออง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายประลอง ระบุว่า ในช่วง 3 วันนี้ พบค่าฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจริง แต่เพิ่มขึ้นเพียง 5-10 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ไม่อยากให้ประชาชนวิตก แต่อยากให้ดูแลตัวเอง ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อออกจากบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่สัญจรจุดนี้ เพราะเป็นจุดที่มีประชากร เเละ รถโดยสารจำนวนมาก ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเพิ่มค่าฝุ่นละออง และจากการลงพื้นที่ พบว่า ยังมีประชาชนจำนวนมาก ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนหลังจากวันนี้ ( 21 ม.ค.) เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ค่าฝุ่นละอองจะลดลง และอากาศจะเริ่มเย็นลง

ส่วน ประชาชน ยอมรับว่ากังวล ทำให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน พร้อมขอให้ภาครัฐเร่งหาทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าว

ขณะเดียวกัน วานนี้ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ตำรวจสายตรวจ และ ปฏิบัติการพิเศษ 191 ได้นำรถฉีดน้ำ มาฉีดเพื่อลดฝุ่นละอองใน 4 เส้นทาง ได้แก่บริเวณ 1.ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการฯ 2.ถนนลาดพร้าว บริเวณแยกรัชดาตัดลาดพร้าว 3.ถนนรามคำแหง บริเวณหน้าฟู๊ดแลนใกล้แยกรามคำแหง และ 4.บนทางด่วน บริเวณรอยต่อทางด่วนโทลเวย์ดินแดง

นักวิจัยสิ่งแวดล้อม ร้องภาครัฐออกกม.อากาศสะอาดแก้ปัญหาฝุ่นละออง 

ขณะเดียวกัน หลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาหัวข้อ "มัจจุราชในสายหมอก" เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร

โดยศาสตราจารย์ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัย และ พัฒนาการป้องกัน และ จัดการภัยพิบัติ ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า นอกจากอันตรายจากภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปกคลุมเมือง ยังมีสารอันตรายอีกหลายอย่างปะปนอยู่ด้วย ทั้งสารก่อมะเร็ง และ โลหะหนัก

จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean air act แยกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับ ในประเทศอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง

รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงาน ที่มีอำนาจในการสั่งปิดแหล่งกำเนิดมลพิษ เนื่องจากในปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังคาบเกี่ยวกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ทำให้ไม่มีความเด็ดขาดในการกำกับดูแล หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบจึงทำได้แค่แจ้งเตือนประชนชนเท่านั้น

สำหรับสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการวิจัยพบว่า ร้อยละ 70-80 มาจากยานพาหนะ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่า มีสาเหตุมาจากมลพิษข้ามพรมแดนด้วย คือ จากการเผาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น การแก้ปัญหาในประเทศไทยเพียงประเทศเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องแก้ในระดับภูมิภาค ส่วนการหาแนวทางลดฝุ่นละอองที่ภาครัฐดำเนินการมาตลอดทั้งสัปดาห์ ศาสตราจารย์ศิวัช มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงอยากให้มีการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นักวิจัยสิ่งแวดล้อม ร้องภาครัฐออกกม.อากาศสะอาดแก้ปัญหาฝุ่นละออง