รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เพื่อเร่งหามาตรการช่วยเหลือ และให้กรมชลประทานเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 16 จังหวัด รวมทั้งให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตร เพื่อเร่งหามาตรการช่วยเหลือแก้ไขความเดือดร้อนเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ก่อนเข้าฤดูฝนภาคใต้ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน นำเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องมือเปิดทางน้ำ ไปติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 75 จุดใน 16 จังหวัด เพื่อสามารถดำเนินการช่วยพื้นที่ได้ทันท่วงที พร้อมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำหลากหรือน้ำท่วมขัง โดยเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุดรวมทั้งป้องกันพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ กรณีมีน้ำท่วมขังระบายออกจากพื้นที่ให้กลับสู่ปกติโดยเร็วภายใน 1-2 วัน รวมทั้งยังให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฤดูฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุดมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ตรัง อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับเทือกเขาบรรทัด วัดปริมาณฝนสูงสุดที่ อ.นาโยง ได้ 216 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด และ อ.เมืองตรัง ซึ่งน้ำได้ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.5 - 2 เมตร

กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานตรัง ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ที่อำเภอเมืองตรัง แยกเป็นบริเวณวัดประสิทธิชัย 2 เครื่อง และบริเวณท่อระบายน้ำ (ทรบ.) ต่อยไห 2 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ที่โครงการชลประทานตรัง อีก 13 เครื่อง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ยังสามารถผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำตรัง ด้วยคลองผันน้ำ ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง อยู่ในขณะนี้ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ประสานบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชน ให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างทั่วถึงแล้ว