กกต.จัดประชุมหารือเตรียมพร้อมเลือกตั้ง รับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง โดยมี 77 พรรคเข้าร่วมประชุม /หารือในเรื่องค่าใช้จ่ายหาเสียง แผ่นป้ายหาเสียง และการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย

วานนี้ (19ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมหารือระหว่าง กกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือ 77 พรรค ซึ่งพรรคใหญ่ส่งตัวแทนร่วมหารือทั้งหมด 

อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา 

โดยกกต.หารือใน 3 เรื่อง คือ 1.จำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10-70 ล้านบาท 

2.การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำป้ายหาเสียง โดยให้ระบุชื่อผู้สมัคร ภาพผู้สมัคร ชื่อพรรค หัวหน้าพรรค หรือ บุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกฯ รัฐมนตรี 

และ 3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แจ้งรายละเอียด และระยะเวลาการหาเสียงให้ กกต.ทราบ 

หลังการหารือ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงว่า พรรคการเมืองมีข้อเสนอเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีข้อเสนอตั้งแต่ขั้นต่ำ 2 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท เพราะค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป 

ส่วนหลักเกณฑ์การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย กกต.ไม่ได้ให้พรรคการเมืองขออนุญาต กกต. แต่ให้แจ้งว่า จะใช้ช่องทางไหน เมื่อไหร่เท่านั้น เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการใส่ร้ายป้ายสี 

ส่วนการเสนอซื้อสื่อทางโซเชียลมีเดีย จะต้องนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น จึงยังไม่มีข้อสรุป แต่ยืนยันว่าจะทำร่างระเบียบต่างๆ ให้เสร็จก่อนปีใหม่ 

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จำนวนป้ายหาเสียงที่ในระเบียบกำหนดให้ติดป้ายได้ 2 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต จากอดีตติดป้ายหาเสียงได้ 5 เท่า 

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ป้ายหาเสียงมีจำนวนลดลง ควรกำหนดให้พอเพียงและมากกว่าที่ร่างระเบียบระบุไว้ 

ทั้งนี้ เห็นว่า ผู้สมัครในพรรคเดียวกัน ควรใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสน แต่เรื่องดังกล่าว คงต้องไปแก้ที่ข้อกฎหมาย 

ด้านนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ทางพรรคพอใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย การหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ในวงเงินคนละ 2 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสม 

ส่วนเรื่องป้ายหาเสียง มีการกำหนดรูปแบบค่อนข้างชัดเจน อาทิ คนที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรค จะเข้ามาครอบงำหรือชี้นำพรรคไม่ได้ ดังนั้นการจะขึ้นรูปคู่กับผู้สมัคร ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคตามกฎหมาย 

ส่วนการพิจารณาชื่อนายกฯของพรรค คาดว่าอาจจะเสนอชื่อนายกฯ ได้ช่วงหลังปีใหม่ 

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การติดป้ายหาเสียง นอกจากรูปผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรคหรือบุคคลที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกฯแล้ว 

พรรคการเมืองส่วนใหญ่ สนับสนุนให้พรรคการเมือง ขึ้นป้ายหาเสียงที่มีรูปคู่กับบุคคลในระบบบัญชีรายชื่อได้ด้วย เพราะถือเป็นคนดี เด่น ดัง และมีความสามารถ 

ส่วนหาเสียงผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ควรมีมาตรฐานกติกาให้ชัดเจน หากพบข้อมูลเท็จ ควรระงับการเผยแพร่ทันที และให้ใบส้มเพื่อดำเนินการกับผู้ก่อเหตุตามกฎหมาย