นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม แจง "ปลาเต็กเล้ง" ไม่ดุร้าย ไม่มีพิษ ระบุ เหตุการณ์พุ่งชนคอทหารเรือขณะฝึกซ้อมในทะเล น่าจะเป็นเหตุบังเอิญ

กรณีจ่าโท เกรียงศักดิ์ เพ่งพานิช ประสบอุบัติเหตุถูกปลาเต็กเล้งพุ่งชนบริเวณลำคอจนเสียชีวิต ขณะฝึกรีคอนในทะเล พื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม

อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่าปลาเต็กเล้งเป็นปลาที่พบได้ทั่วไป ตามกองหิน ใกล้แหลม ตามท่าเรือ หรือ วัสดุลอยน้ำกลางทะเล เป็นปลาผิวน้ำ หากินปลาเล็กเป็นอาหาร ไม่ดุร้าย ไม่มีพิษและถือเป็นปลาขี้ตกใจ ตื่นกลัวคน ซึ่งนักดำน้ำจะเจอปลาเต็กเล้งเป็นประจำ

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีคนเสียชีวิต คาดว่าปลาคงตกใจจากจุดอื่น แล้วพุ่งหนีมาในจุดที่ผู้ตายอยู่ ซึ่งพฤติกรรมปกติของปลาชนิดนี้จะไม่จู่โจมด้วยการพุ่งเข้าแทง เชื่อว่าเป็นเหตุบังเอิญมากกว่า เท่าที่ทราบไม่เคยเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นเสียชีวิตในไทย ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าแถบสะท้อนแสงที่ติดตามเสื้อผ้าอาจเป็นสิ่งเร้าให้ปลาพุ่งเข้าหาคน อาจารธรณ์เปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อคนอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกับปลา แต่ส่วนใหญ่เมื่ออยู่ในระยะใกล้พอที่จะรู้ว่าสิ่งสะท้อนแสง ไม่ใช่เหยื่อปลาก็จะหนีตามสัญชาตญาณของมัน

สำหรับชื่อ “ปลาเต็กเล้ง” เป็นชื่อเรียกในเกมกีฬา จริงๆแล้วปลาชนิดนี้มีชื่อว่า “ปลากระทุงเหว” เป็นปลาผิวน้ำ ขากรรไกรบนและล่างยื่นยาวออกไปทั้งสองข้าง คล้ายปากนก ทรวดทรงของครีบหางจะมีสัณฐานเป็นแผ่นมนกลม เส้นข้างตัวไม่เป็นสัน ลำตัวจะมีสีเขียวปนน้ำตาล บริเวณด้านท้องและด้านข้างของลำตัวขาวออกสีบรอนซ์เงิน ตรงกึ่งกลางของฐานครีบหางจะมีจุดสีดำหนึ่งจุด เป็นปลาทะเลอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลและบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย กินแมลงน้ำและเป็นปลาที่สามารถกระโดดจากผิวน้ำได้สูงมาก ขนาดใหญ่ที่สุดพบยาวถึง 120 เซนติเมตร นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา

นักวิชาการทางทะเล ยืนยัน "ปลาเต็กเล้ง" ไม่ใช่ปลาอันตราย