จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับภาคเอกชน จัดทำโครงการ "ไข่ใจบุญ" สนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ หลังสามารถคิดค้นยารักษามะเร็งที่สามารถลดต้นทุนให้กับไทยได้ถึงเข็มละแสนกว่าบาท แต่ยังขาดเงินในการผลิตยา

วันที่ 14 ธ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนไทย ว่า 1ใน 3 คนที่คุณรู้จัก มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง และโรคดังกล่าวยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคิดค้น "ยาแอนติบอดี้รักษามะเร็ง" ให้แก่คนไทยในราคาถูก และเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม

ซึ่งนพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการ ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตอนนี้สามารถสร้างยาต้นแบบได้สำเร็จแล้ว โดยผลิตมาจากเซลล์ของหนู หลังจากนี้จะส่งไปตรวจสอบเรื่องโมเลกุล เพื่อดูว่า ตรงกับยาที่ต่างประเทศมีอยู่แล้วหรือไม่ หากไม่ตรงก็จะนำยาต้นแบบมาพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ได้ในคน และถ้าหากการคิดค้นสำเร็จ จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย จากที่คนไทยต้องซื้อจากต่างประเทศเข็มละ 200,000 บาท เหลือเพียง 20,000 บาท

อย่างไรก็ตามการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ยังใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงมาก สำหรับการคิดค้นยาดังกล่าวให้สำเร็จ จึงได้มีการเปิดรับบริจาคผ่านโครงการ "ไข่ใจบุญ" เพื่อสนับสนุนการคิดค้นยารักษามะเร็งเพื่อคนไทย

จุฬาฯ ร่วมมือภาคเอกชนเปิดโครงการ "ไข่ใจบุญ" หนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง