โฆษกรัฐบาล ชี้แจง นายกฯไม่ได้เป็นคนเสนอแนวคิด ตัดชื่อและโลโก้พรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นไอเดียของ กกต. เอง ยืนยัน นายกฯไม่เคยแทรกแซง กกต. ด้าน กกต. ระบุ ออกแบบบัตรเลือกตั้งไว้ 2 รูปแบบ แต่ยังไม่ได้ตัดสิน ว่าจะเลือกรูปแบบใด คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อสรุป

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนเสนอตัดโลโก้และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง โดยยืนยันว่า นายกฯไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่มีตัวแทน 1 -2 พรรคการเมือง สอบถาม กกต. ว่า ควรมีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งทางเลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงแนวทางที่กำหนดไว้เบื้องต้นว่า กรณีเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ ซึ่งเบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เหมือนกัน การจะมีทั้งชื่อและโลโก้พรรคจะเกิดความสับสน แต่เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นของ กกต.เท่านั้น ยืนยันว่า รัฐบาลและนายกฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ กกต.

ส่วนที่มีการมองว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคใดทั้งสิ้น ต้องเชื่อในการตัดสินใจของประชาชน อย่าคิดแทน หรือ ดูถูกประชาชนว่า จะจำรายละเอียดผู้สมัครไม่ได้

ด้าน นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของกกต. หลังจากฝ่ายการเมืองออกมาคัดค้านบัตรเลือกตั้ง ที่ไม่มีโลโก้ และชื่อพรรคการเมืองว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงานของสำนักงาน โดยออกแบบบัตรเลือกตั้งไว้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกมีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ชื่อและโลโก้พรรคการเมือง และรูปแบบที่สอง เป็นบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครเท่านั้น

ซึ่งถ้า กกต. จำเป็นต้องพิมพ์บัตรในแบบที่สอง สำนักงานฯจะอุดช่องว่างด้วยการส่งข้อมูลผู้สมัครพรรคการเมืองให้ และได้ผลิตเครื่องสมาร์ทโหวต เพื่อบริการข้อมูลผู้สมัครพรรคการเมืองผ่านทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งผลิตโปสเตอร์ขนาดเล็กที่มีรายชื่อของผู้สมัครทุกพรรคติดไว้ยังสถานที่ลงคะแนนด้วย มองว่า แม้จะเป็นบัตรที่มีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อมูลที่สำนักงานฯ จะเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจของ กกต. เพราะขณะนี้กกต.ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะเลือกรูปแบบใด ซึ่งเราจะประชุมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด

ขณะที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การไม่มีโลโก้และชื่อพรรคบนบัตรเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนสับสน และเกิดความยุ่งยากขึ้น คิดว่า หลายสิ่งหลายอย่างในรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการแก้ไข มิเช่นนั้น จะเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคในการดำเนินการด้านการเมือง

แต่คิดว่า การร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง คงไม่ทันการณ์เพราะระยะเวลาเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือรีบทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ทางพรรคเพื่อไทยไปประชุมพูดคุยกับ กกต. ตามที่ กกต. เชิญพรรคการเมืองมาประชุมเรื่องเงินหาเสียงของพรรคการเมือง

ด้าน ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงคะแนนเสียงด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ลงคะแนนให้ทั้งส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากไม่มีโลโก้หรือชื่อพรรค ประชาชนอาจจะสับสนและไม่สามารถดูได้ ว่าในบัตรเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองใด

ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และยังขัดต่อหลักปฏิบัติสากลที่ทั่วโลกทำกัน เพราะไม่ว่าเลือกตั้งในประเทศใด ชื่อผู้สมัคร โลโก้และชื่อพรรคการเมืองต้องปรากฏในบัตรเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ประมาณ 40 ถึง 50 ล้านคน ไม่ใช่ทุกคนที่จะจำเลขได้ ดังนั้นการมีโลโก้พรรค เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจของประชาชน

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพบัตรเลือกตั้งประเทศต่างๆลงบนเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า รูปแบบบัตรเลือกตั้งจากหลายประเทศ มีสิ่งที่อำนวยความสะดวกและช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างถูกต้องจะมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรค

บางประเทศมีถึงขนาดรูปผู้สมัคร เพื่อไม่ให้กาผิดตัว หากดันทุรังพิมพ์บัตรที่มีเลขผู้สมัครอย่างเดียว ถือว่า สุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้องว่า เป็นการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และอาจเป็นเหตุให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ ส่วน กกต. อาจติดคุกตอนแก่

โฆษกรัฐบาลชี้แจง ตัดโลโก้พรรค เป็นไอเดีย "กกต."