อีกประเด็นที่กลายประเด็นคัดค้านอย่างหนัก เมื่อมีข่าวว่า กระทรวงดิจิทัล เตรียมผลักดันร่างกฎหมายไซเบอร์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ ตรวจค้นข้อมูลส่วนตัวในคอมพิวเตอร์ และ ข้อความแชตของประชาชนได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ล่าสุดนายกฯ สั่งทบทวนร่างกฎหมายไซเบอร์แล้ว หวั่นละเมิดสิทธิมนุษยชน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯกล่าวถึงกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือกฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นข้อมูลส่วนตัว และข้อความสนทนาของประชาชนได้ บุกค้น และ ยึดคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล หากเห็นว่า กระทบต่อความมั่นคง

โดย นายกฯระบุว่า ขณะนี้ทั้งโลกกำลังหารือ เพื่อดูแลป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์อยู่ แต่เรื่องนี้เป็นเส้นบางๆ สองเส้นที่อยู่ใกล้กัน คือ เส้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับเส้นการทำความผิดกฎหมาย เพราะการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษ แต่หากทำเช่นนั้น จะกลายเป็นว่า รัฐไปปิดกั้น และละเมิดสิทธิของประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายแบบกลางๆ ออกมา อย่าไปมองอย่างเดียวว่ารัฐบาลต้องการจะปิดกั้น เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่ต้องหาทางออกให้ได้

ซึ่งเรื่องนี้ ตนรับทราบถึงความกังวลของประชาชน พร้อมสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายไปดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว

ด้าน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงดีอี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เข้าที่ประชุม ครม. เพราะกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้

หลังจากนั้นกระทรวงดีอี จะนำไปพิจารณา ถ้าเห็นว่ามีสิ่งใดต้องทบทวนหรือปรับแก้ ก็สามารถทำได้ จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ.นี้เสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป ยืนยันว่าไม่มีการลักไก่ลัดขั้นตอนแนนอน

ขณะที่ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯ สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายไปดูแลเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นห่วงว่า จะมีการให้อำนาจแก่เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มากจนเกินไป ซึ่งนายกฯ ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะการใช้อำนาจจะต้องกำหนดขอบเขตและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งหวั่นวิตก เพราะร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับนี้ ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อีก ซึ่งมีขั้นตอนในการพิจารณาถึง 3 วาระ

นอกจากนี้ ยังได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานที่จะออกกฎหมายใหม่ ให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น

นายกฯสั่งทบทวนร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ หลังคนค้านให้อำนาจดูแชตส่วนตัวประชาชน